แอล-คาร์นิทีน ดีจริงหรือ ? (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

การทำปฎิกริยาของแอล-คาร์นิทีนกับยาตัวอื่น

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น อะซีโนคูมารอล (Acenocoumarol) และ วอร์ฟาริน (Warfarin) - แอล-คาร์นิทีนจะไปเพิ่มประสิทธิภาพของยาอะซีโนคูมารอลและยาวอร์ฟาริน ทำให้มีการต้านการแข็งตัวของเลือดที่มากเกินไป ทำให้มีรอยช้ำได้ง่ายและเลือดไหลไม่หยุด ดังนั้นอาจต้องปรับปริมาณการใช้ยา (Dose) ของยาอะซีโนคูมารอลและยาวอร์ฟาริน
  • ฮอร์โมนไทรอยด์ - แอล-คาร์นิทีนอาจจะไปลดการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกาย
  • ยา AZT (Azidothymidine) – จากการวิจัยในห้องทดลองพบว่า อาหารเสริมแอล-คาร์นิทีนช่วยป้องกันกล้ามเนื้อจากพิษของยา AZT ซึ่งเป็นยาต้านเอดส์ อย่างไรก็ดียังต้องมีการวิจัยอีกมากเพื่อดูว่าจะมีผลแบบเดียวกันกับการรักษาในคนหรือไม่
  • ยาด๊อกโซรูบิซิน (Doxorubicin) - การใช้ยาแอล-คาร์นิทีนอาจช่วยป้องกันเนื้อเยื่อหัวใจจากผลข้างเคียงของการใช้ยาด๊อกโซรูบิซิน ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ทั้งนี้ต้องปรึกษานักวิทยาเนื้องอก (Oncologist) ก่อนใช้ยา
  • ยารักษาสิว Isotretinoin (Accutane) - ยาตัวนี้สามารถทำให้ตับมีปัญหาได้ เช่นเดียวกับระดับคลอเรสเตอรอลที่สูง การปวดกล้ามเนื้อ และการอ่อนเพลีย ซึ่งล้วนแต่เป็นอาการของการขาดแอล-คาร์นิทีน นักวิจัยในกรีกได้ทำการทดสอบกับคนกลุ่มใหญ่ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาสิว Accutane ว่ามีอาการดีขึ้นเมื่อมีการใช้ยาแอล-คาร์นิทีน
  • ยาต้านชัก Valproic acid (Depakote) - อาจทำให้ระดับแอล-คาร์นิทีนต่ำ การกินอาหารเสริมแอล-คาร์นิทีนอาจช่วยป้องกันการขาดแอล-คาร์นิทีนและอาจลดผลข้างเคียงของยาต้านชัก อย่างไรก็ดีการใช้แอล-คาร์นิทีนอาจเพิ่มความเสี่ยงของการชักในผู้ที่มีประวัติในการชักมาก่อน

ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย (PVD = Peripheral Vascular Disease) ความดันโลหิตสูง โรคตับแข็ง (Cirrhosis) โรคเบาหวาน โรคไต และผู้ที่มีประวัติการชัก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้แอล-คาร์นิทีน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีงานวิจัยที่พบว่า การได้รับแอล-คาร์นิทีน ในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการเส้นเลือดหัวใจ สมอง ตีบตันอยู่แล้ว อาจช่วยให้อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบให้มีอาการน้อยลงบ้าง

นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในการบริโภคอาหารประจำวัน เราจะได้แอล-คาร์นิทีนในขนาด 20-200 มิลลิกรัมแต่ในคนที่กินมังสวิรัติจะเหลือเพียง 1 มิลลิกรัมต่อวัน สำหรับอาหารเสริม 1 เม็ด อาจมีปริมาณแอล-คาร์นิทีน มากกว่า 500 มิลลิกรัม ซึ่งทำให้ร่างกายได้รับมากเกินไป

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเป็นจำนวนมาก บางชนิดก็ไม่มีงานวิจัยรองรับที่ชัดเจนว่าสามารถช่วยให้เกิดผลได้ตามที่ โฆษณา การควบคุมโฆษณาผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม จึงควรมีกำกับ ไม่ให้เกิดการโฆษณาเกินจริงมากจนเกินไป

แหล่งข้อมูล:

  1. ระวัง!อาหารเสริม “แอล-คาร์นิทีน” เร่งเส้นเลือดอุดตัน - http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000052348 [2013, May 18].
  2. Find a Vitamin or Supplement L – CARNITINE. - http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1026-L-CARNITINE.aspx?activeIngredientId=1026&activeIngredientName=L-CARNITINE [2013, May 18].
  3. Carnitine (L-carnitine). - http://www.umm.edu/altmed/articles/carnitine-l-000291.htm [2013, May 18].