แอล-คาร์นิทีน ดีจริงหรือ ? (ตอนที่ 1)

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยนิยมรับประทานอาหารเสริมและวิตามินต่างๆ แต่กลับพบว่าวิตามิน อาหารเสริมหลายชนิดไม่มีการยืนยันประสิทธิผลตรงตามการโฆษณา

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือกรณีของสารประกอบแอล-คาร์นิทีน (L-carnitine) ที่มีการอนุญาตให้เป็นอาหารเสริมและโฆษณาว่าทำให้หุ่นกระชับ ผอม เพิ่มการเผาผลาญ

นายแพย์ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า จากรายงานการค้นพบใหม่ของวารสารทางการแพทย์ชั้นนำ เนเจอร์ (Nature) ของสหรัฐอเมริกาพบว่า หากกินเนื้อสัตว์แล้วกินแอล-คาร์นิทีนเสริมเข้าไป สารแอล-คาร์นิทีนและโคลีนจะเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้เป็นสารพิษชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวเร่งทำให้เกิดเส้นเลือดอุดตัน มีผลต่อเส้นเลือดสมองและหัวใจ

แต่หากกินมังสวิรัติ หรือไม่กินเนื้อสัตว์ จะพบว่าจุลินทรีย์ในลำไส้จะไม่เปลี่ยนแอล-คาร์นิทีนเป็นสารพิษ เนื่องจากจุลินทรีย์ในกลุ่มคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์จะเป็นคนละชนิดกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีงานวิจัยบางฉบับที่ระบุว่า การได้รับแอล-คาร์นิทีน ในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการเส้นเลือดหัวใจ สมองตีบตันอยู่แล้ว อาจช่วยให้อาการเจ็บแน่นหน้าอกจากเส้นเลือดหัวใจตีบให้มีอาการน้อยลงบ้าง

แอล-คาร์นิทีน เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นตามธรรมชาติ เป็นสารที่ช่วยเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงาน ร่างกายจะสร้างแอล-คาร์นิทีนขึ้นที่ตับและไต แล้วนำไปสะสมในบริเวณกล้ามเนื้อ หัวใจ สมอง และอสุจิ (Sperm) เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการทำงานของหัวใจและสมอง การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และกระบวนการอื่นๆ ในร่างกาย

โดยปกติร่างกายจะสร้างแอล-คาร์นิทีนตามที่ต้องการ อย่างไรก็ดีในบางคนอาจจะมีแอล-คาร์นิทีนไม่พอหรือไม่สามารถส่งแอล-คาร์นิทีนไปยังเนื้อเยื่อบริเวณที่ต้องการใช้ได้

นอกจากนี้การใช้ยาบางชนิดหรือมีภาวะบางอย่าง เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ (Angina) หรืออาการปวดขาเพราะขาดเลือด (Intermittent claudication) ก็สามารถทำให้ระดับแอล-คาร์นิทีนในร่างกายต่ำได้

ร่างกายสามารถเปลี่ยนแอล-คาร์นิทีนไปเป็นกรดอะมิโนที่เรียกว่า Acetyl-L-carnitine และ Propionyl-L-carnitine ได้ แต่เนื่องจากยังไม่ผลวิจัยว่าคุณสมบัติของคาร์นิทีนแต่ละตัวจะเหมือนกันหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ทดแทนซึ่งกันและกัน

เราสามารถหาแอล-คาร์นิทีนได้จากอาหารทั่วไป อย่างเนื้อแดง (โดยเฉพาะเนื้อลูกแกะ) และผลิตภัณฑ์นม นอกจากนี้ยังพบในอาหารจำพวกปลา สัตว์ปีก ถั่วหมักจากเชื้อรา (Tempeh) ข้าวสาลี แอสพารากัส อะโวคาโด และพีนัทบัตเตอร์

สำหรับอาหารเสริมแอล-คาร์นิทีนนั้น ใช้เป็นตัวเพิ่มระดับแอล-คาร์นิทีนในร่างกายของคนที่มีปัญหาระดับแอล-คาร์นิทีนต่ำ อันเนื่องมากจากความผิดปกติของพันธุกรรม (Genetic disorder) หรือมีการใช้ยาบางชนิดอย่างยารักษาอาการชัก (Valproic acid) หรืออยู่ระหว่างการการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาหารเสริมทดแทนในหมู่นักมังสวิรัติ ผู้ที่กำลังควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก หรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด

แหล่งข้อมูล:

  1. ระวัง!อาหารเสริม “แอล-คาร์นิทีน” เร่งเส้นเลือดอุดตัน - http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000052348 [2013, May 14].
  2. Find a Vitamin or Supplement L – CARNITINE. - http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-1026-L-CARNITINE.aspx?activeIngredientId=1026&activeIngredientName=L-CARNITINE [2013, May 14].
  3. Carnitine (L-carnitine). - http://www.umm.edu/altmed/articles/carnitine-l-000291.htm [2013, May 14].