แอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Alpha-adrenergic agonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โดยทั่วไป การออกฤทธิ์ของยาใดๆ ตัวยาจะต้องเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนในร่างกายที่เรียกกันว่า รีเซพเตอร์ (Receptor) แปลว่า ตัวรับ ซึ่งอยู่บริเวณผิวเซลล์ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย ยาแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Alpha-adrenergic agonist หรือ Adrenergic alpha-agonist หรือ Alpha-adrenergic receptor agonist ) หมายถึง กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นตัวรับหรือรีเซพเตอร์ที่ชื่อว่า แอลฟา อะดรีเนอร์จิก(Alpha adrenergic receptor, ตัวรับที่ทำงานร่วมกับสาร Catecholamine) และส่งผลให้ตัวรับดังกล่าวทำงานตามหน้าที่ของมัน

แอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?

แอลฟาอะดรีเนอร์จิกอะโกนิสต์

ยาแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ ถูกจำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. แอลฟา-1 อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Alpha-1 adrenergic agonist หรือ Alpha-1 adrenergic receptor agonist) เป็นกลุ่มยาที่เข้าจับกับตัวรับแอลฟา-1 ซึ่งยังแบ่งออกเป็น แอลฟา-1เอ (Alpha 1a), แอลฟา-1บี Alpha 1b, และ แอลฟา-1ดี Alpha 1d, ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่นยา Methoxamine(ยานี้ยกเลิกการจำหน่ายแล้ว), Midodrine, Oxymetazoline, Metaraminol, และ Phenylephrine โดยยากลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ทางคลินิกนำมาใช้เป็นประโยชน์คือ ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดตัว รูม่านตาขยาย ลดอาการคั่งของน้ำมูก

2. แอลฟา-2 อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ (Alpha-2 adrenergic agonist หรือ Alpha-2 adrenergic receptor agonist) ยากลุ่มนี้จะเข้ากระตุ้นการทำงานของตัวรับประเภทแอลฟา-2 ซึ่งพบมากในปมประสาทและในสมองส่วนต่างๆ ตัวรับแอลฟา-2 ยังแบ่งออกเป็น แอลฟา-2เอ, แอลฟา-2บี, และแอลฟา 2ซี ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Clonidine, Guanfacine, Guanabenz (ยกเลิกการใช้ในคนแล้ว), Guanoxabenz(ไม่มีข้อมูลการใช้ทางคลินิก), Guanethidine, Xylazine(ยาใช้ในสัตว์), Tizanidine, Medetomidine(ยาใช้ในสัตว์), Methyldopa, Methylnorepinephrine(ยังไม่มีข้อมูลยาทางคลินิก), Fadolmidine(ยังไม่มีข้อมูลยาทางคลินิก), Dexmedetomidine กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ที่ทางคลินิกนำมาใช้ประโยชน์ได้ คือ ลดการกระตุ้นการทำงานของก้านสมองและของสมอง ช่วยลดความดันโลหิตสูง ใช้เป็นยาสงบประสาท ใช้บำบัดผู้ที่ติด ยาเสพติดหรือติดสุรา

3. Undetermined: เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ไม่จำเพาะเจาะจงต่อตัวรับแอลฟา-1 หรือแอลฟา-2 อย่างชัดเจน ยากลุ่มนี้อาจจะออกฤทธิ์ต่อตัวรับทั้งแอลฟา-1 และแอลฟา-2 และยังรวมไปถึงตัวรับชนิดเบต้ารีเซพเตอร์อีกด้วย ยาในกลุ่มUndetermined ยังอาจแสดงฤทธิ์ทั้งแบบ อะโกนิสต์(Agonist, กระตุ้น) และแอนตาโกนิสต์(Antagonist,ต้าน)อีกด้วยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเซลล์ที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลให้นักวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นต้องแยกยาในหมวดนี้ออกมา ตัวอย่างของยา ในกลุ่ม Undetermined เช่น Amidephrine, Amitraz, Anisodamine, Apraclonidine, Brimonidine, Cirazoline, Detomidine, Dexmedetomidine, Epinephrine, Ergotamine, Etilefrine, Indanidine, Lofexidine, Medetomidine, Mephentermine, Metaraminol, Methoxamine, Mivazerol, Naphazoline, Norepinephrine, Norfenefrine, Octopamine, Oxymetazoline, Phenylpropanolamine, Propylhexedrine, Rilmenidine, Romifidine, Synephrine, Talipexole

ประโยชน์ทางคลินิกของยากลุ่มแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์มีอะไรบ้าง?

อาจจำแนกประโยชน์ทางคลินิกตามประเภทของยาแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ดังนี้

1. แอลฟา-1 อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์:

  • ช่วยเพิ่มความดันโลหิต และใช้รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ
  • บรรเทาอาการคัดจมูก

2. แอลฟา-2 อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์:

  • ใช้เป็นยาลดความดันโลหิตหรือช่วยเพิ่มความดันโลหิตโดยขึ้นกับชนิดของยา
  • ใช้เป็นยาห้ามเลือด ช่วยให้เลือดหยุดไหลจากแผลบาดเจ็บต่างๆ
  • ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้กลับมาเป็นปกติ
  • ใช้บำบัดโรคสมาธิสั้น
  • ใช้รักษาผู้ที่ติดยาเสพติด
  • ใช้เป็นยาสงบประสาท

3. Undetermined:

  • ใช้เป็นยาป้องกันไมเกรน
  • ใช้รักษาโรคต้อหิน หรือใช้เป็นยาลดความดันในลูกตาสูง
  • ใช้รักษาอาการวิตกกังวล
  • ใช้เป็น ยาสงบประสาท ยาบรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวด
  • ใช้รักษาโรคพาร์กินสันโดยมีฤทธิ์เป็นลักษณะของ Dopamine agonist
  • ใช้รักษาความดันโลหิตสูง
  • ใช้เป็นยาลดน้ำมูก
  • ใช้เป็นยาลดน้ำหนักในผู้ที่ป่วยด้วยโรคอ้วน

จะเลือกใช้แอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์อย่างไร?

ยาส่วนมากในกลุ่มยาแอลฟา-อะดรีเนอร์จิก อะโกนิสต์ จัดว่าเป็นยาอันตราย การเลือกใช้ยาตัวใดในการรักษาผู้ป่วย ต้องได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์เสียก่อน นอกจากนี้แพทย์อาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วยก่อนสั่งจ่ายยากลุ่มนี้ อาทิ โรคประจำตัว สภาพการตั้งครรภ์ น้ำหนักตัว อายุ ตลอดจนสภาพการทำงานของอวัยวะตับ ไต และการใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัย ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-adrenergic_agonist [2018,June2]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-1_adrenergic_receptor#agonist [2018,June2]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-2_adrenergic_receptor#Agonists [2018,June2]