แอลทีเพลส (Alteplase)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอลทีเพลส(Alteplase) เป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติเป็นยาสลายลิ่มเลือด ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาTissue plasminogen activators(ตัวยาในกลุ่มนี้เป็นเอนไซม์ที่เป็นสารโปรตีนชนิดที่สลายลิ่มเลือดได้) ทางคลินิกนำยานี้มาบำบัดอาการโรคที่มีสาเหตุจากการอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองอุดตันจากลิ่มเลือด หรือโรคอุดตันของลิ่มเลือดในหลอดเลือดต่างๆ รวมทั้งใช้ล้างลิ่มเลือดในหลอดสวน(Catheter)ที่ใช้สวนในหลอดเลือด จึงมีชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกยานี้อีกชื่อ คือ Catheter Clearance (ยาล้างหลอดสวน)

ยาแอลทีเพลส มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด ที่สามารถฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง หรือจะใช้วิธีหยดเข้าหลอดเลือดดำก็ได้ ตัวยาชนิดนี้จะมีระยะเวลาออกฤทธิ์อยู่นานประมาณ 1 ชั่วโมง การทำลายโครงสร้างของยาแอลทีเพลสจะเกิดที่ตับ และการกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือดถูกแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ในช่วงแรกร่างกายจะใช้เวลากำจัดยานี้ในระยะเวลาประมาณ 4–5 นาทีเท่านั้น และในช่วงถัดมา จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที โดยผ่านทิ้งไปทางปัสสาวะ

ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังของยาแอลทีเพลสที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้

  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่มีเลือดออกในสมอง (Acute ischemic stroke)หรือ เลือดออกในกะโหลกศีรษะ ด้วยตัวยาจะทำให้มีเลือดออกมากขึ้น และเกิดอาการเลือดคั่งในสมองซึ่งจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อผู้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบด้วยติดเชื้อแบคทีเรีย ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่มีแผลในระบบทางเดินอาหาร (เช่น แผลในกระเพาะอาหาร)
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติผ่าตัดสมองภายใน 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดในสมองแตก ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ (สูงตั้งแต่ 175/110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป) ผู้ป่วยด้วยโรคตับระยะรุนแรง เช่น ตับวาย ตับแข็ง ตับอักเสบ

ทั้งนี้ ก่อนที่แพทย์จะสั่งการให้ยาแอลทีเพลสกับผู้ป่วย แพทย์จำเป็นต้องตรวจร่างกายและซักถามประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียด เช่น เคยมีเลือดออกในจอตาจากเบาหวาน(เบาหวานขึ้นตา)หรือไม่ อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตรหรือไม่ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอยู่แล้วหรือไม่ ตลอดจนกระทั่งมีประวัติใช้ยาสลายลิ่มเลือดตัวอื่นๆมาก่อนหรือไม่

ขณะที่ผู้ป่วยได้รับการให้ยาแอลทีเพลสทางหลอดเลือดอาจพบว่า ปากและลิ้นมีอาการบวมเป็นเวลานานหลายชั่วโมง กรณีนี้แพทย์จะหยุดการให้ยาแอลทีเพลสและบำบัดอาการดังกล่าวโดยใช้ยาต้านฮีสตามีน(Antihistamine) หรือฉีดยาประเภท Corticosteroids หรือให้ยาEpinephrine

สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาแอลทีเพลสเสร็จสิ้นแล้ว แพทย์และพยาบาลยังต้องเฝ้าติดตามว่าลิ่มเลือดที่เป็นต้นเหตุของอาการโรค ถูกกำจัดไปเรียบร้อยหรือไม่ มีภาวะเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร ในทางเดินปัสสาวะ(ปัสสาวะเป็นเลือด) ใต้ผิวหนังหรือที่เรียกว่าช้ำเลือด/ห้อเลือดหรือไม่ ผู้ป่วยจึงต้องให้ความร่วมมือ มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

*กรณีเกิดอาการผิดปกติใดๆกับร่างกายหลังใช้ยานี้ เช่น ถ่ายเป็นสีคล้ำ/อุจจาระเป็นเลือด มีจ้ำเลือด/ห้อเลือดตามผิวหนัง เกิดอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด และอื่นๆ เหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้บรรจุยาแอลทีเพลสอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยจัดให้อยู่ในหมวดยาอันตราย และมีเงื่อนไขของการใช้ยาดังนี้

1. ใช้สำหรับ Myocardial ischemia หรือภาวะหลอดเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยา Streptokinase หรือเคยได้รับยา streptokinase ภายใน 6 เดือน

2. ใช้สำหรับ Acute arterial ischemic stroke โดยแพทย์ด้านประสาทวิทยาหรือ ประสาทศัลยแพทย์ หรือ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน

3. ใช้สำหรับ Massive pulmonary embolism(ลิ่มเลือดในปอด)ที่เกิดกับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิด Massive bleedingและมี Hemodynamic instability(มีเลือดออกมากจากอวัยวะต่างๆในร่างกายจนมีปัญหาต่อการไหลเวียนโลหิต)

4. ใช้ในกรณีที่มี Acute vascular access thrombosis (ลิ่มเลือดเกิดรุนแรงเฉียบพลัน)

ทั้งนี้ เราจะพบเห็นการใช้ ยาแอลทีเพลส ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและของเอกชน และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ให้การตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลได้

แอลทีเพลสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แอลทีเพลส

ยาแอลทีเพลสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ในการบำบัดรักษาอาการของโรคที่มีสาเหตุจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial infarction) อาการลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด (Pulmonary embolism) ภาวะสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) ภาวะลิ่มเลือดไปอุดตันในหลอดเลือดต่างๆ (Thromboembolic disorder)

แอลทีเพลสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาแอลทีเพลส มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกระตุ้นสารประเภทโปรตีนในกระแสเลือดที่มีชื่อเรียกว่า Plasminogen(สารโปรตีนตั้งต้นชนิดที่มีคุณสมบัติสลายลิ่มเลือดได้) ทำให้เกิดการเปลี่ยนคุณสมบัติและโครงสร้างไปเป็นสาร Plasmin ซึ่งเป็นสาร โปรตีนที่สามารถออกฤทธิ์ย่อยสลายลิ่มเลือดได้ ด้วยกลไกนี้เองจึงทำให้เกิดฤทธิ์ได้ตามสรรพคุณ

แอลทีเพลสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอลทีเพลส มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดชนิดผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วย Alteplase 50 และ 100 มิลลิกรัม/ขวด(Vial) พร้อมกับน้ำกลั่นเพื่อเตรียมเป็นสารละลายขนาด 50 และ 100 มิลลิลิตร/ขวด (Vial)

แอลทีเพลสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแอลทีเพลสมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย(Myocardial infarction):

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักมากกว่า 67 กิโลกรัมขึ้นไป:

1. เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 15 มิลลิกรัม

2. หยดยาเข้าหลอดเลือดฯต่อเนื่องอีก 50 มิลลิกรัม โดยใช้เวลา 30 นาทีขึ้นไป

3. จากนั้นหยดยาเข้าหลอดเลือดฯอีก 35 มิลลิกรัม โดยใช้เวลา 60 นาทีขึ้นไป

4. ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาครบ 100 มิลลิกรัม

  • ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 67 กิโลกรัมลงมา:

1. เริ่มต้นฉีดยาเข้าหลอดเลือดฯขนาด 15 มิลลิกรัม

2. หยดยาเข้าหลอดเลือดฯต่อเนื่องขนาด 0.75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาหยดยานาน 30 นาทีขึ้นไป (ในขั้นตอนนี้ห้ามให้ยาผู้ป่วยเกิน 50 มิลลิกรัม)

3. ปรับอัตราการให้ยาเป็น 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักต้ว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลา 60 นาทีขึ้นไป (ในขั้นตอนนี้ห้ามให้ยาผู้ป่วยเกิน 35 มิลลิกรัม)

ข. รักษาอาการลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism):

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าทางหลอดเลือดฯในอัตรา 50 มิลลิกรัม/ชั่วโมง เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะได้รับยารวม 100 มิลลิกรัม แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยา Heparin ร่วมในการรักษาด้วย

ค. บำบัดภาวะสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke):

  • ผู้ใหญ่:

1. หยดยาเข้าหลอดเลือดฯขนาด 0.9 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลา 60 นาทีขึ้นไป

2. แพทย์อาจแบ่งยามา 10% จากขนาดที่ต้องใช้กับผู้ป่วยทั้งหมด แล้วฉีดเข้าหลอดเลือดฯโดยตรง จากนั้นจึงเริ่มใช้ยาอีก 90% ตามขั้นตอนแรก

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยากับเด็กต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอลทีเพลส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแอลทีเพลสอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้ เกิดผลข้างเคียงได้

แอลทีเพลสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอลทีเพลส สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อุจจาระดำ/ เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกตามเหงือก ลิ้นและปากบวม
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เลือดออกตามผิวหนังเป็นจ้ำๆ/ห้อเลือด มีผื่นคัน ลมพิษ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น อาจมีภาวะเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น อาจมีภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่างๆ เกิดภาวะ Cholesterol embolization syndrome (ภาวะที่มีไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจนก่อให้เกิดไขมันนี้อุดตันหลอดเลือดต่างๆได้ทั่วร่างกาย)
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว

มีข้อควรระวังการใช้แอลทีเพลสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแอลทีเพลส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด หลอดเลือดแดงทำงานผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแดงโป่งพอง ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงซึ่งยังไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยด้วยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่ติดเชื้อในบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ /เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาเร็วๆนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ มีบาดแผล และมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้(เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ไม่ใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป
  • เฝ้าระวัง สัญญาณชีพ และอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการแพ้ยานี้ได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่มาก เช่น มีเพียงผื่นคันเล็กน้อย
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแอลทีเพลสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แอลทีเพลสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอลทีเพลสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอลทีเพลสร่วมกับยา Abciximab , Argatroban(ยาต้านการสร้างลิ่มเลือด), Bivalirudin(ยาต้านการสร้างลิ่มเลือด) , Warfarin , Heparin , Lepirudin (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาแอลทีเพลสร่วมกับยา Tipranavir , Ramucirumab(ยากลุ่ม Monoclonal antibody) , Cabozantinib ยากลุ่ม Monoclonal antibody), Fondaparinux ด้วยการใช้ยาร่วมกันจะเสี่ยงต่อภาวะตกเลือดจนเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษาแอลทีเพลสอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาแอลทีเพลส ดังนี้ เช่น

  • กรณียาฉีดที่เป็นผงยังไม่ได้ผสมน้ำกลั่น สามารถเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • กรณียานี้ที่ถูกเตรียมเป็นสารละลายแล้ว ต้องเก็บภายใต้อุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส และต้องใช้ยาเตรียมนี้ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ยาทั้ง2 รูปแบบ ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แอลทีเพลสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอลทีเพลส มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Actilyse (แอคทิลีส)Boehringer Ingelheim
Activase (แอคทิเวส)Genentech, Inc.

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Cathflo Activase, TPA, Cathflo Activase

บรรณานุกรม

  1. https://wwwnno.moph.go.th/kbsnan/wp-content/uploads/2017/05/nlem2560_2017-05-09_21-59-14.pdf [2017,Nov25]
  2. https://www.drugs.com/dosage/alteplase.html [2017,Nov25]
  3. https://www.drugs.com/cdi/alteplase-catheter-clearance.html [2017,Nov25]
  4. https://www.drugs.com/dosage/alteplase.html#Usual_Adult_Dose_for_Myocardial_Infarction [2017,Nov25]
  5. https://www.drugs.com/sfx/alteplase-side-effects.html [2017,Nov25]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/alteplase-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov25]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/alteplase/?type=brief&mtype=generic [2017,Nov25]