แอนตี้ออกซิแดนท์ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

โดยปกติร่างกายก็สามารถสร้างแอนตี้ออกซิแดนท์ภายในร่างกาย (Endogenous antioxidants) ได้ อย่างไรก็ดีร่างกายก็มีการใช้แอนตี้ออกซิแดนท์จากแหล่งภายนอก (Exogenous antioxidants) เช่น จากอาหาร ผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือแม้แต่อาหารเสริม (Dietary supplements)

ตัวอย่างของอาหารแอนตี้ออกซิแดนท์ ได้แก่ เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ไลโคปีน (Lycopene) เซเลเนียม (Selenium) สังกะสี (Zinc) วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินอี (Alpha-tocopherol) โดย

เบต้าแคโรทีนและแคโรทีนอยด์ พบได้ใน ลูกแอปริคอท แอสพารากัส (Asparagus) หัวบีท (Beets) บร็อคโครี่ (Broccoli) แคนตาลูป แครอท ข้าวโพด เม็ดพริกไทยอ่อน (Green peppers) ผักเคล (Kale) มะม่วง หัวผักกาด (Turnip) ลูกเนคทารีน (Nectarines) ลูกพีช (Peaches) ฟักทอง น้ำเต้า (Squash) ผักขม (Spinach) มันหวาน (Sweet potato)ส้มเขียวหวาน (Tangerines) มะเขือ และแตงโม

สังกะสี พบได้ใน หอยนางรม เนื้อแดง สัตว์ปีก ถั่ว อาหารทะเล ธัญพืช ผลิตภัณฑ์นม

เซเลเนียม พบได้ใน ปลาทูน่า เนื้อวัว สัตว์ปีก ธัญพืช

วิตามินซี พบได้ใน ลูกเบอรี่ บร็อคโครี่ แคนตาลูป ดอกกะหล่ำ (Cauliflower) ลูกกีวี มะม่วง ส้ม มะละกอ มันหวาน สตรอเบอรี่ มะเขือ

วิตามินอี พบได้ใน บร็อคโครี่ แครอท มะม่วง ถั่ว มะละกอ ฟักทอง ผักขม เมล็ดทานตะวัน

จากการทดลองในสัตว์ พบว่า ระดับของแอนตี้ออกซิแดนท์จากแหล่งภายนอกสามารถป้องกันอนุมูลอิสระที่ทำลายเซลล์ได้ ดังนั้นนักวิจัยจึงได้ศึกษาว่าการกินอาหารเสริมแอนตี้ออกซิแดนท์จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งในมนุษย์ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาทั้งกรณี Case–control studies และ Cohort studies เพื่อตรวจสอบว่า อาหารเสริมแอนตี้ออกซิแดนท์จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งในมนุษย์หรือไม่ ปรากฏว่า ไม่สามารถชี้ชัดได้ เพราะยังไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่อาจทำให้ผลเบี่ยงเบนได้

ในทางกลับกันพบว่า การได้รับอาหารเสริมแอนตี้ออกซิแดนท์ในปริมาณที่มาก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อร่างกายได้ในบางกรณี ยกตัวอย่างเช่น นักสูบบุหรี่ทั้งหลายที่ได้รับเบต้าแคโรทีนที่สูงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด หรือการได้รับวิตามินอีที่มากก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากและการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) นอกจากนี้แอนตี้ออกซิแดนท์ยังอาจทำปฏิกริยากับยาตัวอื่นด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรใช้อาหารเสริมแอนตี้ออกซิแดนท์ด้วยความระมัดระวัง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย

สรุปก็คือ เราน่าจะกินอาหารธรรมชาติและผลไม้สดปลอดสารพิษ ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่า การเสียเงินซื้ออาหารสังเคราะห์มากินนะ

แหล่งข้อมูล

1. Antioxidants and Cancer Prevention. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/prevention/antioxidants [2014, Jun 5].
2. Antioxidants. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/antioxidants.html [2014, June 5].
3. Super Foods for Optimal Health. http://www.webmd.com/food-recipes/antioxidants-your-immune-system-super-foods-optimal-health [2014, June 5].