แอนติเมทาโบไลท์ (Antimetabolite)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอนติเมทาโบไลท์(Antimetabolite) เป็นกลุ่มสารเคมีหรือยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์ยับยั้งรบกวนกระบวนการสันดาปหรือกระบวนการสังเคราะห์สารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบ โตของเซลล์ อย่างเช่น สารพันธุกรรมอย่าง DNA และ RNA ส่งผลให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวได้ตามปกติและหยุดการเจริญเติบโต ทางการแพทย์ ได้นำยาแอนติเมทาโบไลท์มารักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต มะเร็งปากมดลูก ฯลฯ หรือใช้ป้องกันการเกิดพังผืดที่มักจะเกิดจากแผลผ่าตัด ยาหลายตัวในกลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของกลุ่มเชื้อโรคและปรสิต ยากลุ่มแอนติเมทาโบไลท์แต่ละตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์ ขนาดการใช้ยา และผลข้างเคียง ที่แตกต่างกันออกไปทั้งนี้ขึ้นกับธรรมชาติและโครงสร้างโมเลกุลของแต่ละตัวยานั้นๆ

กลุ่มยาแอนติเมทาโบไลท์มีกี่ประเภท?

แอนติเมทาโบไลท์

ทางคลินิก ได้ระบุกลุ่มยาแอนติเมทาโบไลท์ตามประโยชน์ที่ใช้รักษาโรคและมีแหล่งที่มาแตกต่างกัน ดังนี้

1. กลุ่มที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง: ยาแอนติเมทาโบไลท์กลุ่มนี้จะออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมอย่าง DNA ของเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เซลล์มะเร็งเจริญเติบโตและแพร่กระจายไปตามอวัยวะต่างๆ อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มยาแอนติเมทาโบไลท์สามารถนำมาใช้บำบัดมะเร็งที่เกิดตามอวัยวะต่างๆได้มากมาย เช่น เต้านม รังไข่ ปากมดลูก ปอด ระบบทางเดินอาหาร ตลอดจนกระทั่งเม็ดเลือด ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ 5-Fluorouracil, 6-Mercaptopurine, Capecitabine , Cytarabine, Floxuridine, Fludarabine, Gemcitabine, Hydroxycarbamide , Methotrexate, และ Pemetrexed

กลุ่มยาดังกล่าวจะทำหน้าที่สวมรอยคล้ายเป็นองค์ประกอบของนิวคลีโอไทด์(Nucleotide, สารโครงสร้างพื้นฐานของสารพันธุกรรม)ใน DNA ที่เรียกว่า สารพิวรีน(Purine) เซลล์มะเร็งจะต้องใช้พิวรีนมาจำลองโครงสร้างพื้นฐานของสารพันธุกรรมที่ใช้จำลองเซลล์มะเร็งรุ่นใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ การได้ยาที่สวมรอยหรือปลอมตัวเป็นพิวรีนจะส่งผลให้การสร้าง DNA ของเซลล์มะเร็งหยุดชะงักลงและเกิดกลไกที่ใช้ต่อต้านเซลล์มะเร็ง

2. กลุ่มที่มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะและสามารถต่อต้านเซลล์มะเร็ง:

2.1 Sulfanilamide: เป็นยาที่สามารถยับยั้งการสังเคราะห์สาร Dihydrofolate ซึ่งเป็นสารมีความสำคัญต่อการสร้างสารพันธุกรรมอย่าง DNA ในตัวแบคทีเรีย คุณสมบัติดังกล่าว สามารถทำให้เซลล์มะเร็งมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของตัวมันและส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์มะเร็งได้ด้วย เมื่อขาดโปรตีน เซลล์มะเร็งจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ปัจจุบันตัวยา Sulfanilamide ถูกนำมาใช้รักษาการติดเชื้อยีสต์(Yeast)ในบริเวณช่องคลอด โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาครีมหรือยาเหน็บช่องคลอดที่ต้องใส่ในช่องคลอด

2.2 Anthracycline: เป็นกลุ่มยาเคมีบำบัดที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Streptomyces อาจกล่าวได้ว่ายากลุ่มนี้เป็นยาต้านมะเร็งที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย(ยาปฏิชีวนะ)ไปพร้อมๆกัน กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มนี้จะเป็นลักษณะรบกวนการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยให้สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งจำลองตัวมันขึ้นมา ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Daunorubicin, Doxorubicin, Epirubicin, และ Idarubicin

2.3 Not anthracyclines: เป็นยาเคมีบำบัดที่สกัดได้จากเชื้อ Streptomyces แต่ไม่มีโครงสร้างหลักเหมือน Anthracyclines ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ Actinomycin-D, Bleomycin, Mitomycin-C, และ Mitoxantrone

3. กลุ่มที่ใช้รักษาอาการโรคอื่นๆ: เป็นยาที่นำมาใช้ในประโยชน์อื่นนอกเหนือจากใช้เป็นยาเคมีบำบัดและยาต้านเชื้อโรค เช่น ใช้ป้องกันการเกิดพังผืดหลังผ่าตัด ใช้บำบัดโรคภูมิต้านตนเอง(โรคออโตอิมมูน) ซึ่งตัวยาในกลุ่มนี้อาจซ้ำกับยาที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างเช่น Mitomycin-C , Mercaptopurine เป็นต้น

แอนติเมทาโบไลท์สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอย่างไร?

กลุ่มยาแอนติเมทาโบไลท์ อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ ช่องปากเป็นแผล
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผมร่วง ผด ผื่นคัน เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ กดไขกระดูก เกิดภาวะCapillary leak syndrome
  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษต่อตับ/ตับอักเสบ เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง ตับวาย
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตต่ำหรืออาจมีความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น มีภาวะติดเชื้อได้ง่าย มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ
  • ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด มีโปรตีนในปัสสาวะ ไตวาย เกิดภาวะHemolytic-uremic syndrome(มีภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกร่วมกับไตวายเฉียบพลัน)
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด/หายใจลำบาก ไอ เยื่อจมูกอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร

จะเลือกใช้แอนติเมทาโบไลท์อย่างไร?

ยาหลายตัวของกลุ่มแอนติเมทาโบไลท์เป็นยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาเหล่านี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เพียงผู้เดียว แพทย์จะอาศัยข้อมูลโดยการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ประวัติของโรคประจำตัว และประวัติการใช้ยาต่างๆ อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรหรือไม่ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ผลเลือด ค่าCBC ค่าการทำงานของตับ ไต ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยที่นำมาประกอบเหตุผลของแพทย์เพื่อคัดเลือกยากลุ่มนี้และขนาดยานี้มาใช้กับผู้ป่วย

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Antimetabolite [2018,April7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Anthracycline [2018,April7]
  3. https://www.drugs.com/dosage/sulfanilamide-topical.html [2018,April7]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Mercaptopurine [2018,April7]
  5. https://www.drugs.com/sfx/gemcitabine-side-effects.html [2018,April7]