แอซาพิโรน (Azapirone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอซาพิโรน (Azapirone) เป็นกลุ่มยาที่นำมาใช้รักษาอาการทางจิตประสาทเช่น ภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวๆหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นเพื่อการรักษาก็ได้โดยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ การออกฤทธิ์ของกลุ่มยาแอซาพิโรนจะเกิดที่สมองบริเวณตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Serotonin receptor และมีฤทธิ์คล้ายกับยากลุ่ม Benzodiazepines แต่มีความแตกต่างกันตรงที่กลุ่มยาแอซาพิโรนมักไม่ทำให้เกิดภาวะเสพติด ไม่ค่อยก่อให้เกิดอาการดื้อยาหรือถอนยาเหมือนกลุ่ม Benzodiazepines บางครั้งยังมีการใช้ยาแอซาพิโรนไปบำบัดอาการติดสุราเรื้อรังในผู้ป่วยบางกลุ่มอีกด้วย ข้อจำกัดของแอซาพิโรนไม่เหมาะที่จะนำมารักษาอาการป่วยทางจิตที่มีระดับขั้นรุนแรง ซึ่งแพทย์ต้องหันไปใช้ยากลุ่มอื่นที่เหมาะสมมากกว่า

อาจแบ่งกลุ่มยาแอซาพิโรนตามหมวดของการรักษาอาการทางจิตได้ดังนี้

กลุ่มที่ใช้รักษาอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า: เช่น Alnespirone, Binospirone, Buspirone, Enilospirone, Eptapirone, Gepirone, Ipsapirone, Revospirone, Tandospirone, Zalospirone

กลุ่มที่ใช้รักษาอาการทางจิตเภทไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder): เช่น Perospirone, Tiospirone, Umespirone

ธรรมชาติของยากลุ่มแอซาพิโรนนี้มีการดูดซึมต่ำจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาออกฤทธิ์เร็ว และจะถูกกำจัดออกจากกระแสเลือดภายในประมาณ 1 - 3 ชั่วโมงหลังการใช้ยา ดังนั้นการใช้ยาในแต่ละวันอาจต้องรับประทาน 2 - 3 ครั้ง ซึ่งจะมีแต่ยา Umespirone ตัวเดียวที่ร่างกายต้องใช้เวลาถึงประมาณ 23 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด แต่ทางคลินิกยังมิได้นำยา Umespirone มาใช้อย่างเป็นทางการด้วยยังต้องศึกษาข้อมูลของยานี้เพิ่มเติม

มีเกณฑ์บางประการที่แพทย์ใช้พิจารณาประกอบก่อนการสั่งจ่ายยาแอซาพิโรนคือ

  • หากผู้ป่วยใช้ยารักษาความวิตกกังวลกลุ่มอื่นๆอยู่ แพทย์จะสั่งให้หยุดการใช้ยาเหล่านั้นและให้มาใช้ยาแอซาพิโรนแทน หรือพิจารณาเป็นรายบุคคลว่าสมควรใช้ยาอื่นใดร่วมในการรักษาด้วยหรือไม่
  • ผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม MAOI ภายใน 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ ด้วยการใช้ร่วมกับยาแอซาพิโรนจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ของยาแอซาพิโรนติดตามมาได้อย่างมาก
  • ผู้ป่วยมีโรคตับโรคไตหรือไม่ด้วยอวัยวะทั้ง 2 นี้เป็นอวัยวะที่คอยทำลายและขับยาแอซาพิโรนออกจากร่างกาย
  • เคยมีประวัติแพ้ยานี้หรือไม่
  • หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่ ด้วยข้อมูลทางคลินิกที่ใช้สนับสนุนความปลอดภัยต่อเด็กทารกยังมีไม่มากพอ

ทั้งนี้หลังจากมีการสั่งจ่ายยาแอซาพิโรนให้กับผู้ป่วย โดยปกติแพทย์จะกำชับผู้ป่วยให้ปฏิบัติตัวดังนี้

  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาแอซาพิโรนโดยทันทีเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเสี่ยงกับอาการที่เรียกว่าถอนยา
  • ยากลุ่มนี้จะแสดงประสิทธิผลได้นั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ขึ้นไป
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยานี้อย่างมากมาย
  • กรณีรับประทานยาแอซาพิโรนแล้วมีอาการคล้ายแพ้ยาเช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ผื่นคัน ลมพิษขึ้นเต็มตัว หลังมือ-หลังเท้าบวม ต้องรีบหยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่งสำหรับประเทศไทยเท่าที่พบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้เห็นจะได้แก่ยา Buspirone ใช้รักษาอาการวิตกกังวล และ Gepirone ใช้ในอเมริกาเพื่อรักษาอาการซึมเศร้าและอาการวิตกกังวล ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเลือกที่จะใช้ ยา Tandospirone เพื่อรักษาอาการวิตกกังวลและอาการซึมเศร้า

แอซาพิโรนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอซาพิโรน

ยาแอซาพิโรนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ

  • รักษาอาการโรควิตกกังวล อาการซึมเศร้า
  • บำบัดอาการทางจิตเภท โรคไบโพลาร์ (อารมณ์สองขั้ว)

แอซาพิโรนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอซาพิโรนคือ ตัวยาจะมีกลไกออกฤทธิ์ต่อตัวรับ (Receptor) ในสมองเช่น 5-HT1A (5-Hydroxytryptophan 1A), 5-HT2A (5-Hydroxytryptophan 2A), D2 (Dopamine2), รวมถึง Alpha1 และ Alpha2-adrenergic receptors การออกฤทธิ์ปิดกั้นที่ 5-HT2A และ D2 receptors จะส่งผลให้เกิดฤทธิ์บำบัดอาการทางจิตเภทเช่น ตัวยา Perospirone กับยา Tiospirone, ในขณะที่การออกฤทธิ์บริเวณตัวรับกลุ่ม 5-HT ส่งผลบำบัดอาการวิตกกังวลเช่น ยา Buspirone, ด้วยกลไกการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองของยากลุ่มแอซาพิโรนนี้เองจึงทำให้อารมณ์ความรู้สึกกลับมาใกล้เคียงเหมือนปกติ จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

แอซาพิโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอซาพิโรนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีขนาดยาแตกต่างกันในแต่ละชนิดย่อยของตัวยาและในแต่ละบริษัทผู้ผลิต

แอซาพิโรนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยากลุ่มแอซาพิโรนจะขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรงของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเรื่องอายุและระยะเวลาของการใช้ยาในแต่ละบุคคลที่ย่อมมีความแตกต่างกันออกไป แพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่จะสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและปลอดภัย

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอซาพิโรน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขี้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแอซาพิโรนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอซาพิโรนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาแอซาพิโรนให้ตรงเวลา

แอซาพิโรนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจกล่าวได้ว่ายากลุ่มแอซาพิโรนก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ได้น้อยกว่ายากลุ่ม Benzodiazepine และยากลุ่ม SSRIs อีกทั้งไม่ค่อยก่อให้เกิดฤทธิ์ของการเสพติด

ในทางคลินิกอาจพบอาการข้างเคียงในภาพรวมของยาแอซาพิโรนได้ดังนี้เช่น มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย คลื่นไส้ และท้องเสีย ทั้งนี้ยาแต่ละตัวอาจมีอาการข้างเคียงที่พบเห็นได้มากกว่านี้ และการใช้ยากับผู้ป่วยนั้นบางครั้งก็ไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงใดๆเลยก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามหากพบอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรต้องกลับไปปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้แอซาพิโรนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอซาพิโรนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งของแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ยากลุ่มนี้อาจทำให้ฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin, ฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำนม) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol, ฮอร์โมนเกี่ยวกับภาวะเครียดของร่างกาย) ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น
  • ระหว่างการใช้ยานี้อาจทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำก็ได้ ผู้ป่วยจึงต้องควบคุมความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์พยาบาลแนะนำ
  • ควรรับประทานยานี้พร้อมน้ำเปล่า ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือน้ำผลไม้บางชนิดเช่น Grapefruit ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้น
  • กรณีมีอาการแพ้ยานี้ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอซาพิโรนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอซาพิโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอซาพิโรนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มแอซาพิโรนร่วมกับยา MAOIs เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะอาการที่เรียกว่า Serotonin syndrome ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการสับสน ประสาทหลอน มีอาการลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Buspirone ร่วมกับยา Buprenorphine อาจก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ (หายใจช้า เบา ตื้น จนอาจหยุดหายใจ) มีอาการโคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) ในที่สุด กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแอซาพิโรนอย่างไร?

ควรเก็บยาแอซาพิโรนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แอซาพิโรนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอซาพิโรนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Anxiolan (แอนซิโอแลน) Medochemie
Buspar (บัสปาร์) Bristol-Myers Squibb
Lv Kang (แอลวี คาง) Kerui Pharmaceutical
Sediel (เซเดียว) Dainippon Sumitomo Pharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Azapirone [2015,Nov7]
  2. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/8638511 [2015,Nov7]
  3. http://www.anxietysecrets.com/loungeFrame-11.html [2015,Nov7]
  4. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16856115 [2015,Nov7]
  5. http://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=buspirone [2015,Nov7]
  6. http://www.drugs.com/buspirone.html [2015,Nov7]
  7. http://www.drugs.com/drug-interactions/buspirone-with-isocarboxazid-441-0-1389-0.html [2015,Nov7]
  8. http://www.drugs.com/international/tandospirone.html [2015,Nov7]