แลโลกแบบแห้งแล้ง (ตอนที่ 3)

แลโลกแบบแห้งแล้ง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการตาแห้ง ได้แก่

  • อายุมากกว่า 50 ปี
  • เป็นเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่มีฮอร์โมนแปรปรวนระหว่างการตั้งครรภ์ การกินยาคุมกำเนิด หรือวัยหมดระดู
  • กินอาหารที่มีวิตามินเอน้อย
  • ใส่คอนแทคเลนส์

โดยผู้ที่มีอาการตาแห้งมักจะมีอาการแทรกซ้อนดังนี้

  • ติดเชื้อที่ตา เพราะขาดน้ำตาในการปกป้องดวงตา
  • ผิวตาถูกทำลาย หากปล่อยให้ตาแห้ง อาจทำให้ตาอักเสบ กระจกตาถลอก กระจกตาเป็นแผล และมีปัญหาในการเห็น
  • มีปัญหาในการทำกิจกรรมระหว่างวัน เช่น การอ่านหนังสือ

สำหรับอาการตาแห้งอาจตรวจทดสอบได้ดังนี้

  • การตรวจตาอย่างละเอียด
  • การวัดปริมาณน้ำตาด้วยวิธี Schirmer test ด้วยการสอดแถบกระดาษกรองเข้าไปในกระพุ้งตาล่างเพื่อดูความเปียกของกระดาษภายใน 5 นาที
  • การวัดคุณภาพของน้ำตา

คนที่มีอาการตาแห้งอย่างอ่อนหรือเกิดเป็นบางครั้ง อาจรักษาด้วยการหยอดน้ำตาเทียม แต่ถ้ามีอาการตาแห้งเป็นประจำ ควรหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา เช่น กรณีตาแห้งจากตัวยาที่ใช้ ก็ทำการเปลี่ยนตัวยาอื่นเพื่อลดผลข้างเคียงจากการใช้ยา หรือกรณีมีปัญหาหนังตาม้วนออก ก็อาจทำการผ่าตัดแก้ไข

ทั้งนี้ ยาที่ใช้รักษาอาการตาแห้ง ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะลดการอักเสบของเปลือกตา เพื่อลดการอักเสบของเปลือกตาที่สามารถทำให้ต่อมน้ำมันหลั่งน้ำมันเข้าสู่ตา
  • ยาหยอดตาที่ควบคุมการอักเสบของกระจกตา (Cornea) ที่มีส่วนประกอบของยากดภูมิต้านทาน เช่น ยา Cyclosporine หรือ ยา Corticosteroids
  • น้ำตาเทียมเพื่อความชุ่มชื้น
  • ยากระตุ้นการหลั่งน้ำตา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของยาเม็ด เจล หรือยาหยอด
  • ยาหยอดตาที่ทำจากเลือดของตัวเอง ซึ่งใช้ในกรณีที่มีอาการตาแห้งที่รุนแรงไม่ตอบสนองต่อการรักษาอย่างอื่น ยานี้จะทำจากเลือดที่เอาเซลล์เม็ดเลือดแดงออกและผสมด้วยน้ำเกลือ

แหล่งข้อมูล

1. Dry eyes. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dry-eyes/basics/definition/con-20024129 [2016, June 12].