แลโลกอย่างไร้สี (ตอนที่ 1)

แลโลกอย่างไร้สี

หลังจากรู้เรื่องตาบอดกลางคืนแล้ว คราวนี้เรามาทำความรู้จักเรื่องตาบอดสีกันบ้าง

ตาบอดสี (Color blindness) เป็นอาการของคนที่มีปัญหาเรื่องการเห็นสีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน หรือส่วนผสมของสีเหล่านี้ ทำให้การเห็นสีผิดไปจากปกติ เช่น คนที่ตาบอดสีแดงสีเขียวจะสับสนระหว่างสีน้ำเงินและสีม่วง เพราะไม่สามารถเห็นสีแดงที่เป็นส่วนประกอบของสีม่วงได้ อย่างไรก็ดีคนที่ตาบอดสีสามารถมองเห็นทุกอย่างได้ชัดเหมือนคนปกติ

ตาบอดสีทำให้มีปัญหากับชีวิตในการเรียน การอ่าน และการทำงาน ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มักแนะนำให้ทำการทดสอบตาบอดสีในเด็กตั้งแต่อายุ 3-5 ปี

ตาบอดสีเป็นปัญหาด้านการมองเห็นสีของเซลล์ Cones เซลล์ใดเซลล์หนึ่งหรือหลายเซลล์ผิดปกติจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (Genetic) และเป็นแต่กำเนิด นอกจากนี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น (Acquired Colour Vision Defects) เช่น

  • อายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
  • มีปัญหาตา เช่น ต้อหิน (Glaucoma) โรคจอประสาทตาเสื่อม (Macular degeneration) ต้อกระจก (Cataracts) หรือภาวะเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic retinopathy)
  • จอประสาทตาได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturates) ยารักษาวัณโรค (Anti-tuberculosis drugs)
  • การสัมผัสกับสารพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) คาร์บอนไดซัลไฟด์ (Carbon disulphide) และสารตะกั่ว (Lead

มีการประเมินว่า ทั่วโลกมีคนมากกว่า 250 ล้านคน ที่มีอาการตาบอดสี โดยผู้ชายจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นตาบอดสีมากกว่าผู้หญิง กล่าวคือ ผู้ชายจะมีปัญหาเรื่องนี้ประมาณร้อยละ 5-8 และผู้หญิงประมาณร้อยละ 0.5 โดยเฉพาะผู้ชายเชื้อสายยุโรปตอนเหนือ นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคดังต่อไปนี้จะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นตาบอดสีด้วย

  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease)
  • โรคพิษสุราเรื้อรัง (Chronic alcoholism)
  • โรคลูคิวเมีย (Leukemia)
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell anemia)
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis)

บางคนอาจเป็นแบบอ่อนที่สามารถมองเห็นสีได้ดีในที่สว่าง แต่มีปัญหาเรื่องการเห็นสีในที่สลัว ในขณะที่บางคนไม่สามารถแยกสีที่เห็นได้เลยไม่ว่าจะมีแสงขนาดไหน บางคนอาจบอดสีเพียงสีเดียว สองสี หรือ ทั้งสามสีก็ได้ ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงจะเห็นทุกอย่างเป็นสีเทาหมดเลย โดยตาบอดสีมักเกิดกับตาทั้งสองข้าง

แหล่งข้อมูล

1. Color Blindness. http://www.webexhibits.org/causesofcolor/2A.html [2016, June 7].

2. What is color blindness? http://www.webmd.com/eye-health/tc/color-blindness-topic-overview [2016, June 7].

3. Color Blindness. http://www.aao.org/eye-health/diseases/what-is-color-blindness [2016, June 7].

4. Color Blindness. http://www.colourblindawareness.org/colour-blindness/causes-of-colour-blindness [2016, June 7].