แฟชั่นนัก มักเท้าเก (ตอนที่ 2)

แฟชั่นนักมักเท้าเก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะของนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูป ได้แก่

  • การใส่รองเท้าส้นสูง (High heels) ที่ทำให้น้ำหนักไปกดลงบนเท้าด้านหน้า
  • การใส่รองเท้าผิดขนาด (Ill-fitting shoes) เช่น รัดเกินไป แคบเกินไป หรือแหลมเกินไป
  • อาการปวดจากโรคข้ออักเสบ (Arthritis) อาจทำให้ลักษณะการเดินเปลี่ยนไป
  • กรรมพันธุ์ (Heredity) ที่มีรูปเท้าผิดไป

หากไม่ทำการรักษา ภาวะของนิ้วหัวแม่เท้าเอียงผิดรูปอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น

  • เกิดการอักเสบระหว่างผิวหนังและกระดูก หรือกระดูกและเส้นเอ็น (Bursitis) ที่อยู่ใกล้ข้อ
  • ภาวะนิ้วหงิก (Hammertoe) นิ้วคดงอผิดรูป
  • การปวดบริเวณใต้ต่อข้อฐานนิ้ว (Metatarsalgia) ทางด้านฝ่าเท้า

โดยการตรวจวิเคราะห์สามารถทำได้ด้วยการตรวจทางกายภาพ (Physical exam) และการเอ็กซเรย์ ส่วนการรักษาทำได้โดยหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและอาการปวด โดยมีทั้งการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดและการผ่าตัด

การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด (Nonsurgical treatments) ได้แก่

  • การเปลี่ยนรองเท้า ใส่รองเท้าที่สวมสบาย ไม่รัดมาก
  • การใช้แผ่นแปะหรือพันเท้าให้อยู่ในรูปปกติ เพื่อบรรเทาอาการปวดให้น้อยลง
  • การใช้ยา เช่น ยา Acetaminophen ยา Ibuprofen ยา Naproxen หรือ การฉีดคอร์ติโซน (Cortisone) เพื่อลดอาการปวด
  • การใส่แผ่นรองเท้า (Padded shoe inserts) เพื่อกระจายแรงกดลงบนเท้า
  • การประคบด้วยน้ำแข็ง เมื่อต้องยืนนานเพื่อลดอาการปวดและอักเสบ
  • แก้ไขกิจกรรมที่ทำ เช่น ไม่ยืนนานเกินไป
  • ใช้กายอุปกรณ์เสริม (Orthotic devices) อื่นๆ

หากไม่ได้ผล อาจต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อแก้ไขเท้าให้อยู่ในรูปปกติ โดยก่อนตัดสินใจผ่าตัดควรคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้

  • อายุ – มักไม่ทำการผ่าตัดในเด็ก เพราะยังมีความเสี่ยงที่เท้าจะกลับมามีลักษณะเกได้อีก
  • สุขภาพโดยทั่วไป - กรณีโรคเบาหวานที่แผลมักหายยากและติดเชื้อง่าย กรณีเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) ก็อาจทำให้เกิดปัญหามากขึ้น|
  • อาชีพและการใช้ชีวิต – การผ่าตัดอาจทำให้เท้ายืดหยุ่นได้น้อยลง ทำให้ไม่สามารถกลับไปทำกิจกรรมในระดับเดิมได้
  • ความคาดหวัง – การผ่าตัดได้ผลประมาณร้อยละ 85 แต่ก็ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า เท้าจะกลับมาเป็นปกติ หรือไม่ปวดอีก เพราะการผ่าตัดที่ได้ผลขึ้นกับกระบวนการที่ทำ ประสบการณ์ของศัลยแพทย์ และการพักฟื้นหลังผ่าตัด
  • ความรุนแรงของอาการ – การผ่าตัดมักใช้ในกรณีที่ปวดมากและรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล

แหล่งข้อมูล

1. Bunions. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/bunions/basics/symptoms/con-20014535 [2016, July 30].

2. Bunion. http://www.nhsuk/conditions/bunion/Pages/Introduction.aspx [2016, July 30].

3. Bunions (Hallux Valgus). http://www.foothealthfacts.org/footankleinfo/bunions.htm [2016, July 30].