แพ้น้ำตาลในนม (ตอนที่ 2)

แพ้น้ำตาลในนม

ภาวะแพ้น้ำตาลในนม (Lactose intolerance) หรือที่เรียกว่า ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเทส (Lactase deficiency) เป็นอาการที่ไม่สามารถกินผลิตภัณฑ์นมได้ โดยทั่วไปมักไม่อันตรายแต่จะทำให้รู้สึกไม่สบายมากกว่า

บางคนอาจสับสนระหว่างภาวะแพ้น้ำตาลในนม (Lactose intolerance) กับการแพ้นม (Milk allergy) โดยภาวะแพ้น้ำตาลในนมเป็นเรื่องของระบบย่อยที่ผิดปกติ (Digestive system disorder) ส่วนการแพ้นมเป็นเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Body’s immune system) ที่มีปฏิกิริยากับนมหรือผลิตภัณฑ์ของนม

การแพ้นมอาจทำให้เสียชีวิตได้แม้ว่าจะมีการกินในปริมาณเพียงเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในขวบปีแรกของชีวิต ในขณะที่ภาวะแพ้น้ำตาลในนมมักจะเกิดตอนเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่

ภาวะแพ้น้ำตาลในนมเกิดจากการที่ลำไส้เล็กผลิตเอนไซม์สำหรับย่อยน้ำตาลแลคโทสให้เป็นกาแลคโทสและกลูโคสได้น้อย ด้วยการที่มีเอนไซม์ไม่พอ จึงทำให้แลกโทสในนมผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ (Colon) โดยไม่ผ่านกระบวนการย่อย และทำปฏิกริยากับแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ อันเป็นสาเหตุให้เกิดแก๊ส ท้องอืด และท้องเสีย

ภาวะแพ้น้ำตาลในนมสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. Primary lactose intolerance เป็นประเภทที่เกิดได้ในคนทั่วไป – ปกติเมื่อแรกเกิดและระหว่างเป็นทารกร่างกายจะสร้างแลคเทส (Lactase) ปริมาณที่มากเมื่อมีการกินนม โดยแลคเทสจะค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการกินอาหารอื่นที่หลากหลายมากขึ้นนอกจากนม ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแพ้น้ำตาลในนมได้
  2. Secondary lactose intolerance เป็นประเภทที่เกิดจากการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บ – โดยแลคเทสจะมีปริมาณน้อยลงภายหลังจากการเจ็บป่วย การผ่าตัด การได้รับบาดเจ็บที่ลำไส้เล็ก หรือเป็นผลจากการติดเชื้อที่ลำไส้ เช่น โรคแพ้กลูเตน (Celiac disease) โรคลำไส้อักเสบ (Gastroenteritis) โรคโครห์น (Crohn's disease)
  3. Congenital lactose intolerance โดยขาดเอนไซม์แลคเทสตั้งแต่เกิด เป็นประเภทที่ไม่ค่อยพบ เป็นโรคทางพันธุกรรม เกิดบนโครโมโซมร่างกายแบบด้อย (Autosomal recessive) นั่นคือทั้งแม่และพ่อมียีนส์ด้อยชนิดนี้ ทั้งนี้ เด็กจะท้องเสียตั้งแต่แรกเกิด จึงต้องกินนมสูตรที่ไม่มีแลคโทส (Lactose-free infant formulas)

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะแพ้น้ำตาลในนมได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดอาการแพ้มากขึ้น
  • เชื้อชาติ (Ethnicity) โดยเฉพาะคนผิวดำ เอเชีย ละตินอเมริกา (Hispanic)
  • การคลอดก่อนกำหนด เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีระดับแลคเทสต่ำ ทั้งนี้เพราะเอนไซม์ตัวนี้จะมีเพิ่มมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
  • เป็นโรคที่มีผลกระทบต่อลำไส้ เช่น มีแบคทีเรียมากเกินไป โรคแพ้กลูเตน โรคโครห์น เป็นต้น
  • อยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง โดยได้รับรังสีบำบัดที่ช่องท้องหรือมีโรคแทรกซ้อนจากการให้เคมีบำบัด

แหล่งข้อมูล

  1. Lactose Intolerance. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/digestive-diseases/lactose-intolerance/Pages/facts.aspx [2015, April 18].
  2. Lactose Intolerance. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lactose-intolerance/basics/definition/con-20027906 [2015, April 18].