แบคทีเรีย VS ไวรัส (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ในบางกรณี การวินิจฉัยโรคว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัสทำได้ยาก เพราะอาการป่วยต่างๆ นั้นคล้ายกัน เช่น โรคปอดบวม (Pneumonia) โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) และอาการท้องร่วง/ท้องเสีย (Diarrhea) สามารถมีสาเหตุมาจากทั้งเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส

แพทย์สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้โดยดูจากประวัติอาการ และการตรวจร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจเลือด ปัสสาวะ และเสมหะ เป็นขั้นตอนแรกๆ ของการวินิจฉัยโรค การเอ็กซเรย์ทรวงอก และการตรวจวิเคราะห์อุจจาระอาจช่วยในการวินิจฉัยโรค หรืออาจมีการเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal fluid) เพื่อนำไปทดสอบให้แน่ใจว่าไม่มีการติดเชื้อในสมอง

บางกรณีอาจใช้การเพาะเชื้อ (Culture test) เพื่อดูว่าเป็นการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส หรือบางกรณีอาจใช้การตัดชื้นเนื้อ (Biopsy) ที่ติดเชื้อไปตรวจ แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องสรุปให้ได้ว่า การติดเชื้อนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส ทั้งนี้เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)

การค้นพบและการใช้ยาปฏิชีวนะ รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การแพทย์ แต่น่าเสียดายที่เชื้อแบคทีเรียสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี และการใช้ ยาปฏิชีวนะที่พร่ำเพื่อก็อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญในโรงพยาบาล

ยาปฏิชีวนะจะใช้ไม่ได้ผลในเชื้อไวรัส รวมถึงการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ปัจจุบันองค์การชั้นนำหลายแห่งต่อต้านการใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นกรณีที่มีหลักฐานแน่ใจว่ามันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ป้องกันการติดเชื้อโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันต้านทานของเซลล์ในร่างกาย

ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีการใช้วัคซีนในการลดการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคโปลิโอ (Polio) โรคหัด (Measles) และโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) นอกจากนี้ยังมีการใช้วัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ (Flu) โรคไวรัสตับอักเสบเอ (Hepatitis A) โรคไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) การติดเชื้อเฮชพีวี (HPV = Human papillomavirus) และอื่นๆ

การรักษาการติดเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของมนุษย์ เพราะเชื้อไวรัสมีขนาดเล็กมากและมีการแตกตัวภายในเซลล์ โรคติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคเริม (Herpes simplex) โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง/เอชไอวี (HIV = Human immunodeficiency virus) หรือโรคเอดส์ (AIDS = Acquired Immune Deficiency Syndrome) โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) อาจใช้ยาต้านไวรัสได้

อย่างไรก็ดี การใช้ยาต้านไวรัสก็สามารถทำให้เชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ส่วนการป้องกันการติดเชื้อ เช่น การล้างมือให้สะอาด การใส่เสื้อกาวน์ การใส่หน้ากากอนามัย ยังคงเป็นวิธีที่ป้องกันการติดเชื้อระหว่างแพทย์และผู้ป่วยได้ดี

นอกจากนี้ การปรุงอาหารให้สะอาดและการหลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างไว้นานก็เป็นสิ่งสำคัญ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังกการใช้ห้องส้วมทุกครั้ง นอกจากนี้ จงอย่าใช้ยาปฏิชีวนะนานเกินจำเป็น เพราะจะทำให้เชื้อโรคดื้อยา

แหล่งข้อมูล:

  1. Bacterial and Viral Infections. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/bacterial-and-viral-infections [2012, August 22].
  2. Infection http://en.wikipedia.org/wiki/Viral_Infections [2012, August 22].