แบคทีเรียกินเนื้อ (ตอนที่ 1)

แบคทีเรียกินเนื้อ-1

ผศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง โรคแบคทีเรียกินเนื้อ หรือที่เรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า Necrotizing fasciitis คือ การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังของระดับเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบแบบมีเนื้อตายที่ผิวหนังตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้าถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคตับแข็ง

ผศ.พญ.จรัสศรี กล่าวว่า การติดเชื้อมักพบหลังการผ่าตัด หรือหลังประสบอุบัติเหตุ ทำให้เกิดแผลและสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อแบคทีเรียที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปเอ ซึ่งบริเวณที่พบการติดเชื้อบ่อย ได้แก่ บริเวณขาและแขน

โดยอัตราการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเป็นโรคเบาหวาน หรือโรคตับแข็ง จะทำให้มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อรวมถึงจะลุกลามอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้น การติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น

ผศ.พญ.จรัสศรี อธิบายถึง ลักษณะอาการที่พบในระยะแรก คือ มีอาการเจ็บปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนังอย่างมาก หลังจากนั้น อาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว ในบางรายอาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย

ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวด มักมีไข้สูงและมีการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อก และมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่างๆ เช่น ไต ตับ เป็นต้น

การวินิจฉัยและรักษาในระยะแรกของโรคจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตและหายได้ ถ้ามีแผล อาการเจ็บปวด บวม แดง ร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที โดยผู้ป่วยโรคแบคทีเรียกินเนื้อส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งการรักษาหลัก คือ การใช้ยาต้านจุลชีพในรูปยาฉีดร่วมกับการผ่าตัด

ผศ.พญ.จรัสศรี แนะนำว่า การดูแลป้องกันและระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรค หรือถ้ามีแผลที่ผิวหนัง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก เพื่อป้องกันการรับเชื้อแบคทีเรีย

แต่ถ้าสัมผัส หรือประสบอุบัติเหตุ ทำให้เกิดแผล ควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ หรือยาฆ่าเชื้อทันที ไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตนเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น

และถ้ามีแผลบวมแดงอักเสบมากควรรีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อ (Necrotizing fasciitis / Flesh-eating bacteria) เป็นการติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรีย ถ้าเกิดกับบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์จะเรียกว่าโรคหนังเน่า (Fournier gangrene) โดยเชื้อจะทำลายเนื้อเยื่อที่ปกคลุมกล้ามเนื้อภายในเวลาอันรวดเร็ว

แหล่งข้อมูล:

  1. “มารู้จักโรคแบคทีเรียกินเนื้อ”. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000043077 [2017, August 30].
  2. Necrotizing Fasciitis (Flesh-Eating Bacteria) - Topic Overview. http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/tc/necrotizing-fasciitis-flesh-eating-bacteria-topic-overview#1 [2017, August 30].