ลมชัก:แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้มีอาการชัก

แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้มีอาการชัก

การรักษาโรคลมชักให้ได้ผลดีนั้น ต้องประกอบด้วยการทานยากันชักสม่ำเสมอแล้ว ยังต้องมีการปฏิบัติตัวที่ดีร่วมด้วยเสมอ เพื่อให้การรักษาได้ผลดี ดังต่อไปนี้

ต้องทำ

  • ทานยากันชัก ยารักษาโรคร่วมที่มีอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง ไม่ควรซื้อยาทานเอง โดยไม่พบแพทย์เลย เพราะเข้าใจว่าตนเองปกติ สบายดี อย่างน้อยควรพบแพทย์ 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดนอน ไม่นอนดึก เพราะถ้าร่างกายพักผ่อนไม่พอ ก็จะเกิดความเครียดส่งผลเสียต่อสมอง ทำให้มีอาการชักเกิดขึ้นได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยง ลด เลิกสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดอาการชักได้ง่าย เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ อดนอน นอนดึก เครียด ทานยาไม่สม่ำเสมอ ถ้าเราปฏิบัติตัวได้ดี ทานยาสม่ำเสมอก็จะทำให้การควบคุมอาการชักได้ดี
  • การออกกำลังกาย เล่นกีฬาที่ปลอดภัยเหมาะสมกับผู้มีอาการชัก ไม่ควรเล่นกีฬาผาดโผน ปะทะกันอย่างรุนแรง เช่น ปีนเขา ขับขี่รถ จักรยานเสือภูเขา ชกมวย เป็นต้น การเล่นกีฬาไม่ควรเล่นอย่างหนัก หัหโหม เพราะถ้าเหนื่อยมากๆ ก็จะกระตุ้นทำให้ชักได้ง่ายขึ้น
  • การประกอบอาหารเป็นกิจวัตรประจำวันที่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารด้วยเตาไฟ เตาแก๊ส เพราะถ้ามีอาการชักขณะประกอบอาหารก็จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก การประกอบอาหารควรใช้เตาไมโครเวฟ เป็นต้น
  • การอาบน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ ในแม่น้ำลำคลอง เพราะถ้ามีอาการชักขณะอาบน้ำ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น จมน้ำเสียชีวิตได้
  • การทานยาตามแพทย์สั่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคลมชักต้องทานยาต่อเนื่องนานมากกว่า 3 ปี ดังนั้นผู้ที่มีอาการชักก็จะเกิดอาการเบื่อหน่าย ไม่ทานยาครบถ้วน ทำให้เกิดอาการชักซ้ำได้ง่ายขึ้น ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ ต้องรับการรักษาไปตลอดชีวิต ทั้งที่สามารถควบคุมอาการชักได้ 2 ปี ก็จะสามารถหยุดยากันชักได้ ดังนั้นการทานยากันชัก ปฏิบัติตัวที่ดี เป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาโรคลมชัก

ไม่ควรทำ ห้ามทำ

  • ทานยากันชักเฉพาะวันที่มีอาการชักเท่านั้น การเข้าใจผิดนี้เป็นสิ่งที่พบบ่อยมาก เพราะเข้าใจว่าเป็นยากันชัก รักษาอาการชัก ถ้าไม่ชักก็ไม่ทาน จึงทานเฉพาะวันที่ชักเท่านั้น การทานยากันชักที่ไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้การควบคุมอาการชักไม่ประสบความสำเร็จ การทานยากันชักต้องทานยากันชักทุกวันสม่ำเสมอ ต่อเนื่องประมาณ 3-5 ปี ไม่ชักต่อเนื่องนานมากกว่า 2 ปี จึงค่อยๆ หยุดยากันชัก
  • อดนอน นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะจะทำให้เกิดอาการชักได้ง่าย ต้องพักผ่อนให้พอ จึงจะทำให้การควบคุมอาการชักเป็นไปด้วยดี
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการชักซ้ำได้ง่าย
  • การเล่นกีฬาที่ผาดโผน มีการปะทะ เช่น ชกมวย จักรยานเสือภูเขา ปีนหน้าผา
  • เพราะถ้าเกิดอาการชักก็จะเกิดอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้มีอาการชักได้ง่าย
  • การประกอบอาหารด้วยเตาไฟ เตาแก๊ส เตาถ่าน เพราะถ้าเกิดอาการชักขณะประกอบอาหาร ก็จะเกิดอันตรายได้ง่าย เกิดไฟไหม้ น้ำร้อนลวกได้ง่าย
  • การอาบน้ำในอ่างอาบน้ำ ในแม่น้ำ ลำคลอง เพราะถ้าเกิดอาการชักก็จะเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ เสียชีวิตได้ง่ายมาก เนื่องจากไม่รู้สติ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
  • การทานยาไม่สม่ำเสมอ ปรับยาเอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง การรักษาต้องทานยาสม่ำเสมอ ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ทำให้การรักษาโรคลมชักได้ผลดี หายจากอาการชัก หยุดยากันชักได้