แนวทางการรักษาโรคอ้วน ตอนที่ 6

แนวทางการรักษาโรคอ้วน

การรักษาโรคอ้วนด้วยการควบคุมอาหาร มีหลายรูปแบบโดยการควบคุมอาหารที่จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และนักกำหนดอาหาร ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบซึ่งจะกล่าวถึงในรูปแบบที่ 4 ดังนี้

อาหารพลังงานต่ำมาก(Very low calorie diet; VLCD) เป็นอาหารที่ให้พลังงานน้อยกว่า 800 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งจะทำให้ลดน้ำหนักได้มากและช่วยรักษามวลกล้ามเนื้อไว้ โดยประกอบด้วย

  • โปรตีน 0.8 – 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดี อาทิ เนื้อสัตว์ไม่ติดมันติดหนัง เนื้อปลา ไข่
  • คาร์โบไฮเดรท 10 – 80 กรัมต่อวัน(คาร์โบไฮเดรท 1 กรัมให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี)
  • ไขมัน 1 – 20 กรัมต่อวัน (ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี)

ซึ่งแพทย์จะต้องดูแลให้ได้วิตามิน แร่ธาตุเสริมให้เพียงพอละครบถ้วน เพื่อให้ได้สารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอ

ทางการแพทย์แนะนำให้ใช้อาหารพลังงานต่ำมาก(Very low calorie diet; VLCD) ในผู้ที่ใช้อาหารพลังงานต่ำ(low-calorie diet ; LCD) หรืออาหารแบบอื่นแล้วไม่ได้ผลในคนที่อ้วนรุนแรงหรือมีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น เบาหวานแบบที่ 2 ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเลือดสูง หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ที่ต้องการลดน้ำหนักตัวอย่างรวดเร็วให้สามารถควบคุมโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น และจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตามมีการติดตาม ศึกษาพบว่าระยะเวลา 1 ปีกลุ่มที่ได้รับอาหารพลังงานต่ำมาก(Very low calorie diet; VLCD) ลดน้ำหนักได้ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่กินอาหารพลังงานต่ำ(low-calorie diet ; LCD) โดยลดเพียง 9 % ในปีที่ 1 และ 5 % ในปีที่ 4

อ้างอิง

ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์. Nutrition Planning and Determination. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc

ศุภวรรณ บูรณพิร. Obesity in practice . Nutrition Update. สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.