แนวทางการรักษาโรคอ้วน ตอนที่ 3

แนวทางการรักษาโรคอ้วน

การรักษาโรคอ้วน โดยเป้าหมายของการลดน้ำหนักคือ ลดลง 5 – 10 % จากน้ำหนักตัวตั้งต้นภายในระยะเวลา 6 เดือน ด้วยความเร็วที่ 0.5 – 1 กิโลกรัม/สัปดาห์ และคงที่น้ำหนักที่ลดลงไว้ในระยะยาว โดยใช้วิธีการควบคุมอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเพิ่มกิจกรรมทางกายและออกกำลังกาย โดยมีหลักฐานว่าน้ำหนักที่ลดลง 5 – 10 % หรือเฉลี่ย 7 % จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ความดันโลหิตลดลง ลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาภาวะไขมันในเลือดได้

การรักษาโรคอ้วนด้วยการควบคุมอาหาร มีหลายรูปแบบโดยการควบคุมอาหารที่จำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และนักกำหนดอาหาร ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบดังนี้

1.อาหารพลังงานต่ำ(Low-calorie-diets : LCD) หรือ อาหารไขมันต่ำ(low-fat-diets)

เป็นการแนะนำให้รับประทานไขมันไม่เกิน 30 % ของพลังงานทั้งหมด เพื่อช่วยจำกัดพลังงานที่รับประทาน และยังช่วยลด ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดพลังงานที่รับประทานลง 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยเน้นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 10 % และควรเลือกอาหารที่มีปริมาณโคเลสเตอรอลน้อยกว่า 300 มิลลิกรัม/วัน อาหารประเภทข้าว/แป้ง >55% และเนื้อสัตว์(โปรตีน) 15 %ของพลังงานทั้งหมด

เลือกรับประทานผักและผลไม้ไม่หวานจัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีวิตามิน แร่ธาตุและใยอาหารสูง สามารถรับประทานได้มากโดยได้รับพลังงานน้อย ทำให้ไม่รู้สึกว่าถูกจำกัดปริมาณอาหารมากนัก อาหารชนิดนี้นอกจากช่วยลดน้ำหนัก ยังช่วยชะลอการเปลี่ยนจากภาวะ Impaired fasting glucose คือภาวะของผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับที่จัดว่าเป็นเบาหวาน คืออยู่ในระดับ 110 - 125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป

อ้างอิง

ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์. Nutrition Planning and Determination. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc

ศุภวรรณ บูรณพิร. Obesity in practice . Nutrition Update. สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.