แท็กเซน (Taxane)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแท็กเซน(Taxane) เป็นสารประกอบประเภทไดเทอพีน(Diterpenes) ที่สกัดได้จากพืชสกุลแท็กซัส(Taxus, ไม้พุ่มชนิดหนึ่ง) ในต่างประเทศสกัดยากลุ่มแท็กเซนจากเปลือกของต้นยู(Bark from the pacific yew, ไทยเรียก ทุเรียนเทศ หรือทุเรียนน้ำ) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัด(Chemotherapy) เพื่อรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด การสร้างสูตรตำรับยากลุ่มแท็กเซนจะมีความยุ่งยากพอสมควรด้วยตัวยาไม่สามารถละลายน้ำได้นักวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นต้องใช้ตัวทำละลาย(Solvent) ที่เหมาะสมและก่อให้เกิดพิษกับผู้ป่วยน้อยที่สุด กลุ่มยาแท็กเซนได้รับการพัฒนามาเป็นเวลายาวนานมากกว่า 60 ปี

องค์การอนามัยโลก ได้รับรองให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็ง เราสามารถพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย

กลุ่มยาแท็กเซนมีตัวยาอะไรบ้าง?

แท็กเซน

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนายากลุ่มนี้และนำมาใช้ทางคลินิก 3 รายการ ดังนี้

1. พาคลิแทคเซล(Paclitaxel) เป็นยาประเภทแอลคาลอยด์ที่สกัดจากเปลือกของต้นยู ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งคาโปซิซาร์โคมา มะเร็งตับ มะเร็งปากมดลูก แพทย์อาจใช้ยา Cisplatin, Carboplatin, หรือTrastuzumab ร่วมในการรักษาด้วย

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาพาคลิแทคเซลเป็นยาฉีด ผู้ป่วยจะต้องมารับยาทุก 3 สัปดาห์หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ยาพาคลิแทคเซลจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีใช้ในไทยภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ เช่น Intaxel, Paclitero, Paxoll และ Sindaxel

2. โดซีแทคเซล(Docetaxel) มีโครงสร้างคล้ายกับ ยาPaclitaxel ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต แพทย์อาจใช้ยา Cisplatin, Cyclophosphamide, Fluorouracil, หรือTrastuzumab ร่วมในการรักษา

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ยานี้เป็นแบบยาฉีด ผู้ป่วยต้องมารับการให้ยาทุกๆ 3 สัปดาห์จนกระทั่งครบเทอมการรักษา หรือเป็นไปตาม คำสั่งแพทย์

ยาโดซีแทคเซลจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีใช้ในไทยภายใต้ชื่อการค้าว่า Daxotel ,Docegrix , Oncotaxel และ Taxotere

3. คาบาซิแทคเซล(Cabazitaxel) ทางคลินิกนำมาใช้รักษามะเร็งเช่นกัน เช่นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ดื้อต่อการรักษาด้วยการควบคุมฮอร์โมน(Castrate resistant metastatic prostate cancer) ขณะได้รับยานี้แพทย์มีความจำเป็นต้องใช้ยาAntihistamine, Corticosteroid, H2 antagonist ร่วมในการรักษาเพื่อป้องกันมิให้ผู้ป่วยแพ้ยาชนิดนี้ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ เป็นแบบยาฉีด ผู้ป่วยจะต้องมารับการให้ยาทุกๆ 3 สัปดาห์หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ยาคาบาซิแทคเซลจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีจำหน่ายในไทยภายใต้ชื่อการค้าว่าJevtana

แท็กเซนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแท็กเซน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไมโครทิวบูล(Antimicrotubule agents)ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต่อการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง การยับยั้งไมโครทิวบูล ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหยุดการแบ่งตัว ไม่สามารถขยายขนาด ลดการลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ และตายลงในที่สุด

แท็กเซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แท็กเซนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยาและขนาดความแรงดังนี้

  • Docetaxel: 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร, 80 มิลลิกรัม/4 มิลลิลิตร
  • Paclitaxel: 100 มิลลิกรัม/17 มิลลิลิตร, 260 มิลลิกรัม/43.4 มิลลิลิตร, 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร, 300 มิลลิกรัม/50 มิลลิลิตร
  • Cabazitaxel : 60 มิลลิกรัม/ขวด(vial)

แท็กเซนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยา/การบริหารยาแท็กเซนกับผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยานี้ ได้แก่ น้ำหนักของร่างกาย หรือพื้นที่ผิวร่างกายผู้ป่วย รวมถึงอายุ และประวัติการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัวต่างๆ ทั่วไป แพทย์จะให้ยาแท็กเซนโดยฉีดเข้าหลอดเลือดดำ แต่ยากลุ่มนี้สามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและอักเสบ หากฉีดยาออกนอกเส้นเลือด/หลอดเลือด จะทำให้เกิดความเสียหาย/การตายของเนื้อเยื่อรอบข้างตามมา บุคลากรทางการแพทย์ที่จะฉีดยาแท็กเซน จะต้องได้รับการฝึกปฏิบัติมาเป็นอย่างดี

กรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดหรือสังเกตเห็นผื่นบวมแดงบริเวณฉีดยา ต้องหยุดการให้ยาแล้วรีบ แจ้งแพทย์/พยาบาลทันที

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาCorticosteroid ชนิดรับประทานเพื่อป้องกันอาการบวมน้ำ หรืออาการแพ้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากได้รับยาแท็กเซน และยังมียาบำบัดรักษามะเร็งชนิดอื่นๆที่แพทย์อาจจะนำมาใช้สนับสนุนยาแท็กเซนในการรักษาโรคมะเร็งแต่ละประเภท เช่นยา Doxorubicin , Cyclophosphamide , Anthracycline, Trastuzumab , Cisplatin , Carboplatin, และ 5-fluorouracil

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ได้รับยาแท็กเซน แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น

  • มีอาการคล้ายกับภาวะติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ตั้งแต่38 องศาเซลเซียส(Celsius)ขึ้นไป
  • อึดอัด/ หายใจไม่ออก/ หายใจลำบาก มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
  • อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
  • ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • อุจจาระมีสีคล้ำ/ อุจจาระเป็นเลือด
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • เกิดแผลในช่องปากและช่องคอ
  • มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • มีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • เกิดอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง
  • บวมตามเท้า ข้อเท้า หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับแท็กเซน?

ควรดูแลตนเองขณะได้รับยาแท็กเซน ที่สำคัญ คือ

  • เพื่อช่วยป้องกันการเกิดแผลในช่องปาก ให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มและกลั้วคอวันละ 3 ครั้งด้วยน้ำเกลือที่ผสมเอง โดยใช้เกลือแกงครึ่ง-หนึ่งช้อนชาผสมกับน้ำ 240 ซีซี
  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร
  • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้เฉพาะยาบรรเทาอาการคลื่นไส้/ ยาแก้คลื่นไส้ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง และ ผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออกเพราะเลือดจะออกมาก และหยุดยาก
  • ยาแท็กเซนสามารถทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด เมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง จึงควรสวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดดให้มิดชิด หรือทาผิวด้วยครีมกันแดดที่มีค่าSPF 15 หรือสูงกว่า
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่แพทย์/พยาบาลแนะนำ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแท็กเซน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคตับ มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแท็กเซนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาแท็กเซนตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย

กรณีหากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์/พยาบาล/บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยทราบ และรีบทำการนัดหมายการให้ยาครั้งต่อไปโดยเร็ว

แท็กเซนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแท็กเซนเป็นยาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งชนิดมีการแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ยากลุ่มนี้ไม่ใช่ยารักษาตรงเป้าจึงทำให้เกิดผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่อเซลล์ปกติชนิดสามารถแบ่งตัวได้อย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน และเป็นเหตุให้ยาแท็กเซนก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ น้ำมูกไหล เกิดภาวะปอดบวม มีพังผืดในปอด หายใจขัด
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูง ค่าบิลิรูบินเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก เป็นตะคริวที่ท้อง ปากแห้ง ตับอ่อนอักเสบ เลือดออกในทางเดินอาหาร มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดที่เรียกว่า Pseudomembranous colitis
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือสูง หัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง มีผื่นคัน ผิวคล้ำ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีภาวะติดเชื้อช่องปาก ติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ผลต่อตา: เช่น น้ำตาไหล ตาแดง ตาพร่า
  • ผลต่อไต: เช่น เป็นพิษกับไต/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดข้อ
  • ผลต่อการเกิดมะเร็งชนิดอื่น: เช่น อาจทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Acute myeloid leukemia
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ รู้สึกสับสน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ประจำเดือนขาดในสตรี
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงนอน เกิดพิษต่อระบบประสาท มีความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ชัก

อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล

มีข้อควรระวังการใช้แท็กเซนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแท็กเซน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยากลุ่มนี้
  • กลุ่มยาแท็กเซนสามารถกดการสร้าง เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด ของไขกระดูกได้ชั่วคราว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เกิดภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกง่ายเพิ่มขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อรวมถึงการทำกิจกรรมต่างๆที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
  • อาจทำให้มีอาการปวดข้อและปวดกล้ามเนื้อ ทั่วไปมักเกิดขึ้นชั่วคราว 2-3 วันหลังจากได้รับยาแท็กเซน อาการเหล่านี้มักจะหายได้เองภายในไม่กี่วัน
  • เกิดอาการทางระบบประสาทส่วนปลาย เช่น ชามือและเท้า ซึ่งอาการจะค่อยๆทุเลาลงภายในเวลาต่อมา
  • มีอาการผมร่วง ซึ่งเราจะพบเห็นได้บ่อยในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดทุกชนิดรวมยาแท็กเซน การงอกของเส้นผมจะกลับมาเป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยานี้
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน/ท้องเสีย เกิดแผลในช่องปาก ทั่วไปจะไม่ค่อยรุนแรงเท่าใดนัก และสามารถหายได้เอง
  • ระวังอาการบวมน้ำของร่างกายเมื่อได้รับยาแท็กเซน แพทย์จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยรับประทานยาCorticosteroid ป้องกันล่วงหน้า 3 วัน หากยังพบอาการบวมน้ำอยู่อีกแพทย์จะสั่งระงับการใช้ยาแท็กเซนทันที
  • ยาแท็กเซนสามารถทำให้เกิดพิษต่อการทำงานของตับได้เหมือนกับยารักษามะเร็งหลายตัว แพทย์จำเป็นต้องตรวจการทำงานของตับเป็นระยะๆตลอดการรักษาด้วยยากลุ่มนี้
  • อาจเกิดความดันโลหิตต่ำในช่วง 3 ชั่วโมงแรกหลังจากได้รับยาแท็กเซน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะได้รับยายี้ชนิดพาคลิแทคเซลเข้าทางหลอดเลือด ผู้ป่วย จะต้องนอนพักเพื่อดูอาการจนกระทั่งความดันโลหิตกลับมาเป็นปกติเสียก่อน แพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้
  • มีอาการหมองคล้ำของผิวหนังบริเวณทำรังสีรักษาร่วมกับการใช้ตัวยาแท็กเซน อาการนี้จะค่อยๆทุเลาลงเมื่อหยุดใช้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีระดับเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลต่ำกว่า 1,500 เซลล์/ลบ.มม.
  • ขณะที่ได้รับยากลุ่มนี้/ยานี้ ห้ามรับการฉีดวัคซีนใดๆ นอกจากจะมีคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร อย่างเคร่งครัด มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจร่างกาย ตรวจภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และรับการฉีดยานี้ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแท็กเซนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แท็กเซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแท็กเซนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาPaclitaxel /Docetaxel/Cabazitaxel ร่วมกับ ยาAdalimumab เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น
  • ห้ามใช้ยาPaclitaxel/Docetaxel/Cabazitaxel ร่วมกับยาClozapine เพราะทำให้เกิดภาวะกดไขกระดูกและจนอาจเป็นเหตุให้มีระดับเม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำลงมาก
  • ระวังการใช้ยาPaclitaxel/Docetaxel ร่วมกับยา Amprenavir , Telaprevir ด้วยจะทำให้ระดับยาPaclitaxel/Docetaxel ในเลือดเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมาสูงขึ้นจากยา Paclitaxel/Docetaxel เช่น คลื่นไส้อาเจียน ตัวบวม ท้องเสีย ปวดปลายประสาท กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาแท็กเซนร่วมกับวัคซีนใดๆนอกจากจะมีคำสั่งแพทย์ ด้วยอาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยติดเชื้อจากตัววัคซีนเสียเอง

ควรเก็บรักษาแท็กเซนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาแท็กเซน ดังนี้ เช่น

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส หรือเก็บตามคำแนะนำของเอกสารกำกับยา
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Taxane[2018,Sept8]
  2. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/docetaxel.aspx [2018,Sept8]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/taxotere [2018,Sept8]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Docetaxel[2018,Sept8]
  5. https://www.drugs.com/sfx/taxotere-side-effects.html [2018,Sept8]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/docetaxel,taxotere-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Sept8]
  7. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2011/020262s049lbl.pdf [2018,Sept8]
  8. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/Paclitaxel.aspx [2018,Sept8]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Paclitaxel[2018,Sept8]
  10. https://www.mims.com/thailand/drug/info/paclitaxel/?type=brief&mtype=generic [2018,Sept8]
  11. https://www.drugs.com/sfx/paclitaxel-side-effects.html [2018,Sept8]
  12. https://www.drugs.com/drug-interactions/paclitaxel-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Sept8]
  13. https://www.drugs.com/drug-interactions/cabazitaxel-index.html?filter=3&generic_only= [2018,Sept8]
  14. http://www.mims.com/thailand/drug/info/jevtana [2018,Sept8]