แดคติโนมัยซิน (Dactinomycin/Actinomycin-D)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแดคติโนมัยซิน(Dactinomycin) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ แอคติโนมัยซิน-ดี(Actinomycin D) เป็นยาปฏิชีวนะที่สกัดได้จากเชื้อแบคทีเรีย Streptomyces parvullus ทางการแพทย์นำมาใช้เป็นยาเคมีบำบัด เพื่อรักษามะเร็ง/ เนื้องอกได้หลายชนิด อาทิ Wilms’ tumor, Ewing’s sarcoma, Rhabdomyosarcoma, Soft tissue sarcoma, Osteosarcoma, Testicular tumorsระยะแพร่กระจาย เป็นต้น

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแดคติโนมัยซิน จะเป็นการยับยั้งการถอดรหัสพันธุกรรมในเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต แต่ทางกลับกัน ยาแดคติโนมัยซิน ก็สามารถสร้างความเสียหายต่อระบบการทำงานของอวัยวะสำคัญๆของร่างกาย เช่น ไต ตับ และไขกระดูก จึงถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแดคติโนมัยซิน เป็นแบบยาฉีดที่ต้องให้ยาทางหลอดเลือดดำเท่านั้น การแทงเข็มฉีดยาผิดพลาดจนทะลุหลอดเลือดจะส่งผลให้ตัวยยา แดคติโนมัยซินเข้าทำลายเนื้อเยื่อบริเวณรอบๆหลอดเลือดฯที่สัมผัสยานี้ ดังนั้นหลังแทงเข็มฉีดยาเข้าหลอดเลือดแล้วเกิดอาการ ปวด บวม แดง ของผิวหนังบริวณให้ยาฯ จะต้องหยุดการให้ยานี้โดยเร็ว และบำบัดอาการดังกล่าวทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแดคติโนมัยซิน มักจะเกิดหลังการหยุดให้ยานี้ไปแล้ว 2–4 วัน และอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อให้ยาในครั้งถัดไป อย่างไรก็ตามอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงดังกล่าวจะหายและผู้ป่วยมะเร็งจะมีอาการกลับมาปกติเมื่อหยุดการใช้ยานี้

เราจะพบเห็นการใช้ยาแดคติโนมัยซินทั้งในและนอกประเทศ ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า ‘Cosmegen’

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ยาชนิดนี้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับใช้บำบัด รักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆตามสรรพคุณที่ได้ระบุไว้ในหัวข้อถัดไป

แดคติโนมัยซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร ?

แดคติโนมัยซิน

ยาแดคติโนมัยซิน เป็นยาเคมีบำบัดกลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ใช้รักษามะเร็งและเนื้องอกได้หลายชนิด เช่น

  • โรคมะเร็งวิมส์/เนื้องอกวิมส์/ มะเร็งไตในเด็ก (Wilms’ tumor)
  • โรคมะเร็งกล้ามเนื้อลายในวัยเด็ก (Childhood rhabdomyosarcoma)
  • โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
  • มะเร็งไข่ปลาอุก (Gestational trophoblastic neoplasm)
  • มะเร็งกระดูกชนิด Ewing’s sarcoma
  • มะเร็งอัณฑะระยะแพร่กระจาย (Matastatic testicular tumors)
  • มะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน/ มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft tissue sarcoma)
  • มะเร็งกระดูก ชนิด Osteosarcoma

แดคติโนมัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแดคติโนมัยซินคือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรม (DNA) ของเซลล์มะเร็งตรงบริเวณไนโตรเจนเบสที่มีชื่อเรียกว่า กัวนีนหรือกวานิน (Guanine portion) แล้วเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนขึ้นมา จากเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้เซลล์มะเร็งหมดสภาพในการถอดรหัสทางพันธุกรรม ทำให้ไม่สามารถจำลองสารพันธุกรรมรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ เกิดการชะลอ/หยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในที่สุด

แดคติโนมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แดคติโนมัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาฉีด แบบผงแห้งปราศจากเชื้อที่ประกอบด้วย Dactinomycin 0.5 มิลลิกรัม หรือ 500 ไมโครกรัม/ขวด(Vial)

แดคติโนมัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาแดคติโนมัยซินรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ น้ำหนักตัวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึงอายุ และประวัติการเจ็บป่วยหรือโรคประจำตัวต่างๆ ผู้ป่วยอาจต้องมารับการฉีดยาต่อเนื่อง 5 วัน และเว้นช่วง 2 สัปดาห์ จากนั้แพทย์จะนัดมารับยาในรอบใหม่

อย่างไรก็ตามระหว่างที่ได้รับยาแดคติโนมัยซิน แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วหรือฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ เช่น

  • มีไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • เป็นไข้หนาวสั่น
  • คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
  • อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
  • ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
  • ไม่มีแรง หรือ อ่อนเพลีย อย่างรุนแรง
  • เกิดแผลในช่องปากและคอ
  • มีภาวะเลือดออกง่ายตามร่างกาย
  • เกิดผื่นคันอย่างรุนแรงตามผิวหนัง หรือมีภาวะผิวหนังลอก
  • ตัวเหลือง-ตาเหลือง
  • อุจจาระมีสีเข้มดำ หรือมีเลือดปนมากับอุจจาระ/อุจจาระเป็นเลือด
  • เจ็บ/ปวด มีผื่นแดง รอยบวม ในบริเวณที่ได้รับการฉีดยานี้

ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับแดคติโนมัยซิน?

การดูแลตนเองขณะได้รับยาแดคติโนมัยซิน เช่น

  • ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน
  • ล้างมือบ่อยๆเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะ ก่อนกินอาหาร และหลังใช้ห้องน้ำ
  • หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้ ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น เพื่อลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาหรือกิจกรรมหนักที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเป็น แผลเลือดออก
  • ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่ แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • เพื่อป้องกันการเกิดแผลในปาก ให้ใช้แปรงสีฟันชนิดขนอ่อนในการแปรงฟัน

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาแดคติโนมัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น อีสุกอีใส งูสวัด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแดคติโนมัยซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาแดคติโนมัยซินตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยาต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยว ข้องทราบ และทำการนัดหมายการให้ยาครั้งต่อไปโดยเร็ว

แดคติโนมัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแดคติโนมัยซิน อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร (เช่น แผลในกระเพาะอาหาร) ช่องปากเป็นแผล ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น บวมตามร่างกาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นแดง เกิดสิว ผมร่วง ผิวลอก ผื่นแพ้แสงแดด และกลุ่มอาการ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เม็ดเลือดแดงต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ

*อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดขึ้น และมีความรุนแรงมากน้อยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ การตอบสนองของร่างกายของแต่ละบุคคล และอาการข้างเคียงเหล่านี้ที่ไม่รุนแรงจะหายไปเองหลังจากหยุดการให้ยานี้ แต่ถ้าอาการรุนแรง ควรรีบด่วนกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

มีข้อควรระวังการใช้แดคติโนมัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แดคติโนมัยซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้/ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคอีสุกอีใส หรือโรคงูสวัด เพราะตัวยาจะกระตุ้นให้อาการของโรคดังกล่าวทวีความรุนแรงมากขึ้นจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต
  • การใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และ ผู้สูงอายุ ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หลังจากได้รับยาชนิดนี้ หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่าเกิดอาการแพ้ยา และต้องให้แพทย์ช่วยเหลือ/ไปโรงพยาบาลโดยเร็ว/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อตรวจร่างกาย ตรวจภาวะแทรกซ้อนและรับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแดคติโนมัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุก ชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แดคติโนมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแดคติโนมัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาแดคติโนมัยซินร่วมกับ การทำรังสีรักษา เพราะจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกายมากยิ่งขึ้น
  • ห้ามฉีดวัคซีนชนิดมีชีวิตเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายขณะที่ผู้ป่วยยังได้รับยาแดคติโนมัยซิน ด้วยจะทำให้ฤทธิ์การทำงานของวัคซีนด้อยประสิทธิภาพลง
  • ห้ามใช้ยาแดคติโนมัยซินร่วมกับ ยา Adalimumab, Certolizumab, Leflunomide, เพราะเสี่ยงทำให้ร่างกายมีภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงตามมา
  • ห้ามใช้ยาแดคติโนมัยซินร่วมกับ ยาClozapine ด้วยจะเกิดภาวะกดการทำงาน ของไขกระดูกจนเป็นเหตุให้เม็ดเลือดขาวต่ำอย่างรุนแรง

ควรเก็บรักษาแดคติโนมัยซินอย่างไร?

ควรเก็บรักษาแดคติโนมัยซิน เช่น

  • เก็บรักษายาภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ

แดคติโนมัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

แดคติโนมัยซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cosmegen (คอสมีเจน)Almac Pharma

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/dactinomycin.aspx [2019,Feb16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dactinomycin#Mechanism[2019,Feb16]
  3. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/050682s025lbl.pdf[2019,Feb16]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/dactinomycin/?type=brief&mtype=generic [2019,Feb16]
  5. http://www.mhra.gov.uk/home/groups/spcpil/documents/spcpil/con1494570017851.pdf[2019,Feb16]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/dactinomycin-index.html?filter=3 [2019,Feb16]