แช่แข็งไข่ เพื่อรอคนที่ใช่ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

แช่แข็งไข่เพื่อรอคนที่ใช่-3

      

      โดยระหว่างการรักษาจะต้องมีการติดตามผล เช่น การอัลตราซาวด์ช่องคลอดเพื่อดูการเจริญเติบโตของไข่ในรังไข่ การตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งจะเพิ่มขึ้นเมื่อถุงในรังไข่ (Follicles) โต หรือระดับโปรเจนเตอโรน (Progesterone) ซึ่งจะลดต่ำลงหลังการตกไข่ (Ovulation)

      การเก็บไข่ (Egg retrieval)

      มักทำหลังการฉีดยา 8-14 วัน ด้วยการวางยาสลบ และใช้เข็มดูดไข่ผ่านทางช่องคลอดประมาณ 15-20 นาที ทั้งนี้ ภายหลังการเก็บไข่อาจรู้สึกเป็นตะคริว (Cramping) และมีอาการแน่นท้องหรือรู้สึกเหมือนถูกกดทับ ซึ่งจะคงอยู่นานนับสัปดาห์ เนื่องจากรังไข่มีการขยายตัวขึ้น

      การแช่แข็งไข่ (Freezing eggs)

      จะมีการแช่ไข่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าศูนย์องศา (Subzero) เพื่อหยุดปฏิกิริยาทางชีวภาพ (Biological activity) และรอการนำไปใช้ในอนาคต ซึ่งอาจมีการใช้สารไครโอโพรเทกแทนต์ (Cryoprotectants) เพื่อป้องกันการเกิดผลึกน้ำแข็งระหว่างที่แช่แข็งซึ่งมี 2 วิธี คือ

  • Slow-freeze method – โดยช่วงแรกจะมีการใส่สารไครโอโพรเทกแทนต์ที่น้อยก่อน เมื่ออุณหภูมิค่อยๆ ลดต่ำลง อัตราการเปลี่ยนแปลงเมตาบอลิซึมของไข่ (Eggs' metabolic rates) ลดลง จึงค่อยเพิ่มปริมาณสารให้มีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อป้องกันไข่ไม่ให้ได้รับสารพิษที่มีอยู่ในสารไครโอโพรเทกแทนต์
  • Vitrification – เป็นการแช่แข็งแบบฉับพลัน โดยใช้สารไครโอโพรเทกแทนต์ที่มีความเข้มข้นสูง และทำให้เย็นอย่างรวดเร็วด้วยในโตรเจนเหลว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลึกน้ำแข็งมาทำลายเซลล์

      หลังกระบวนการการเก็บไข่ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่ต้องป้องกันการมีเพศสัมพันธ์เพราะอาจตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ (Unwanted pregnancy) ได้ และหากมีอาการต่อไปนี้ให้ไปพบแพทย์

  • มีไข้สูงกว่า 38.6 C
  • ปวดท้องอย่างรุนแรง
  • มีน้ำหนักเพิ่มมากกว่า 0.9 กิโลกรัม ใน 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดมาก (ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยมากกว่า 2 ครั้งต่อชั่วโมง)
  • ปัสสาวะลำบาก

      และเมื่อต้องการนำมาใช้ ไข่จะถูกละลายและนำไปผสมกับตัวอสุจิ (Sperm) ในห้องปฏิบัติการ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีผสมที่เรียกว่า Intracytoplasmic sperm injection (ICSI) กล่าวคือ แพทย์จะคัดเอาตัวอสุจิที่มีความแข็งแรงที่สุดด้วยวิธีการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์และฉีดเข้าไปเพื่อให้ผสมกับไข่แบบเจาะจงด้วยเข็มขนาดเล็ก พอผสมกันแล้วจะนำไปเลี้ยงในห้องปฏิบัติการด้วยน้ำยาเลี้ยงพิเศษ จากนั้นเมื่อตัวอ่อนพัฒนาไปอยู่ในระยะที่เหมาะสมแล้ว ก็จะนำเข้าไปใส่ในโพรงมดลูกเพื่อให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป (ประมาณ 3-5 วัน หลังการผสม)

      ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 90 ของไข่ที่แช่แข็งและละลายจะมีชีวิตรอด และประมาณร้อยละ 75 จะประสบความสำเร็จในการผสม (Fertilized) ส่วนโอกาสในการตั้งครรภ์จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30-60 ทั้งนี้ ขึ้นกับอายุตอนที่เก็บไข่แช่แข็ง ยิ่งอายุมากโอกาสของการตั้งครรภ์ในอนาคตก็ลดลง

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Egg freezing. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/egg-freezing/about/pac-20384556 [2018, September 20].
  2. Egg Freezing. http://obgyn.ucla.edu/egg-freezing [2018, September 20].
  3. Egg Freezing FAQ’s. https://uscfertility.org/egg-freezing-faqs/ [2018, September 20].