แค่ไข่เน่าแต่ถึงตาย (ตอนที่ 3)

แค่ไข่เน่าแต่ถึงตาย-3

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบริหารงานความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการประกอบอาชีพ หรือที่เรียกว่า OSHA (Occupational Safety and Health Administration) ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดปริมาณก๊าซไข่เน่าสำหรับคนงานในโรงงานที่ต้องสัมผัสกับก๊าซไข่เน่าไว้ดังนี้

  • การทำงาน 8 ชั่วโมง (Permissible exposure limit-time weighted average = PEL-TWA) ให้ไม่เกิน 10 ppm
  • การทำงานระยะสั้นที่ 15 นาที (Short-term exposure limit = PEL-STEL) ไม่เกิน 15 ppm

ส่วน NIOSH (The National Institute for Occupational Safety and Health) ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดว่า ปริมาณก๊าซไข่เน่า 300 ppm เป็นระดับที่มีอันตรายทันทีต่อชีวิตและสุขภาพ

ผลกระทบที่เกิดจากก๊าซไข่เน่าจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง (Irritant) และทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยความรุนแรงจะขึ้นกับปริมาณและระยะเวลาที่สัมผัส

กรณีที่มีความเข้มข้นน้อย (Low concentrations) จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา จมูก คอ และระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจลำบาก โดยผลกระทบนี้อาจอยู่ได้นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน และหากมีการสัมผัสซ้ำๆ หรือมีระยะเวลาสัมผัสที่นานขึ้น อาจทำให้ตาอักเสบ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หงุดหงิด นอนไม่หลับ ระบบการย่อยปั่นป่วน และน้ำหนักลด

กรณีที่มีความเข้มข้นปานกลาง (Moderate concentrations) จะทำให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น ไอ หายใจลำบาก น้ำท่วมปอด ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ ตื่นเต้นตกใจง่าย (Excitability)

กรณีที่มีความเข้มข้นมาก (High concentrations) สามารถทำให้ชักกระตุก (Convulsion) หมดสติ และเสียชีวิต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ภายในช่วงการหายใจเพียงไม่กี่ครั้ง

ส่วนการสัมผัสกับก๊าซไข่เน่าในรูปของเหลวจะทำให้เนื้อเยื่อตายหรือได้รับอันตรายเนื่องจากความเย็นจัด (Frostbite)

สำหรับการป้องกันการได้รับพิษก๊าซไข่เน่านั้น ก่อนเข้าไปในบริเวณที่อาจมีก๊าซไข่เน่า ควรปฏิบัติดังนี้

  1. ทำการทดสอบว่ามีก๊าซไข่เน่าอยู่หรือไม่ด้วยการใช้เครื่องมือที่มีคุณภาพในการตรวจวัด
  2. หากผลปรากฏว่าบริเวณนั้นมีก๊าซอยู่ ให้ทำให้บริเวณนั้นมีการหมุนเวียนถ่ายเทของอากาศให้ดี
  3. ถ้าไม่สามารถทำให้อากาศถ่ายเทได้ การเข้าไปยังสถานที่นั้นต้องสวมเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อป้องกันระบบการหายใจ พร้อมอุปกรณ์สื่อสารและเครื่องช่วยชีวิต

ข้อสำคัญ อย่าพยายามเข้าไปทำการช่วยเหลือผู้อื่นในบริเวณนั้นโดยไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจที่เหมาะสมและไม่ได้รับการฝึกฝนถึงวิธีการช่วยเหลือนั้น

แหล่งข้อมูล:

  1. Human Health Effects from Exposure to Low-Level Concentrations of Hydrogen Sulfide. https://ohsonline.com/Articles/2007/10/Human-Health-Effects-from-Exposure-to-LowLevel-Concentrations-of-Hydrogen-Sulfide.aspx?Page=1 [2017, July 05].
  2. OSHA Fact Sheet - Hydrogen Sulfide (H2S). https://www.osha.gov/OshDoc/data_Hurricane_Facts/hydrogen_sulfide_fact.pdf [2017, July 05].