แคลเซียม อาหารเสริมน่าคิด (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

การเลือกกินอาหารเสริมแคลเซียมควรทำเมื่อมีความจำเป็น โดยก่อนเลือกควรระลึกดังนี้

  • เลือกยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ ได้มาตราฐานทางคุณภาพ
  • อ่านฉลากให้ชัดเจนถึงปริมาณและวิธีกินในแต่ละครั้ง
  • แคลเซียมจะดูดซึมได้ดีที่สุดที่ปริมาณ 500-600 มิลลิกรัม หรือน้อยกว่า
  • เมื่อเริ่มกินอาหารเสริมแคลเซียมใหม่ ให้ลองกินในปริมาณที่น้อยก่อน โดยในสัปดาห์แรกให้เริ่มที่ 200-300 มิลลิกรัมต่อวันพร้อมดื่มน้ำเพิ่ม 6-8 ออนซ์ (ประมาณ 180-240 ซีซี) หลังจากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณ
  • อาหารเสริมแคลเซียมอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ทำให้มีลม (Gas) ในกระเพาะ หรือท้องผูก หากดื่มน้ำเพิ่มแล้วไม่หาย ควรเปลี่ยนยี่ห้อหรือชนิดของแคลเซียม
  • ควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ ถึงปฏิกริยาของอาหารเสริมแคลเซียมที่อาจมีต่อยาที่กินอยู่

อย่างไรก็ดีการกินแคลเซียมเสริมที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะในผู้ชาย เพราะจากการวิจัยของ Sabine Rohrmann, PhD ซึ่งเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยซูริช (University of Zurich) ที่ทำการติดตามผู้ชายและผู้หญิงเกือบ 24,000 คน เป็นระยะเวลา 11 ปี พบว่า คนที่กินแคลเซียมเสริมมีโอกาสในการเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้นร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กิน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยบางฉบับที่พบว่า หญิงที่กินแคลเซียมเสริมเป็นนิ่วในไตมากกว่าหญิงที่ไม่กินแคลเซียมเสริม ทั้งนี้ หมายถึงแคลเซียมเป็นเม็ดๆ ไม่ใช่แคลเซียมในอาหารธรรมชาติ เพราะงานวิจัยเดียวกันพบว่าคนที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติสูง จะมีโอกาสเป็นนิ่วน้อยกว่าคนที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติต่ำ

ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า น่าจะเกิดจากแคลเซียมในอาหารธรรมชาติ ช่วยจับกับออกซาเลทในอาหาร กลายเป็นสารประกอบที่ไม่ถูกดูดซึมที่ลำไส้ ทำให้ออกซาเลทไปก่อนิ่วไม่ได้ ขณะที่แคลเซียมเสริมกินแบบโดดๆ ไม่มีออกซาเลทจากอาหารให้จับ จึงไม่ได้ประโยชน์ในแง่นี้

ดังนั้นการจะรับประทานแคลเซียมเสริมจึงควรจะชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์และโทษให้ดี และเพราะการกินแคลเซียมเสริมอาจทำปฏิกริยากับยาตัวอื่นได้ ดังนั้นบางครั้งจึงต้องมีการกินแคลเซียมเสริมในเวลาที่ต่างกันไป

ซึ่งทางที่ดีควรจะหลีกเลี่ยงไปกินอาหารธรรมชาติที่มีแคลเซียมสูงจะดีกว่า หรือมิฉะนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อน

แหล่งข้อมูล

  1. Calcium http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-781-calcium.aspx?activeIngredientId=781&activeIngredientName=calcium[2014, March 27].
  2. Calcium and Vitamin D: What You Need to Knowhttp://nof.org/articles/10[2014, March 27].
  3. Calcium Supplements May Raise Heart Attack Risk http://www.webmd.com/heart/news/20120523/calcium-supplements-may-raise-heart-attack-risk[2014, March 27].