แคลเซียม อาหารเสริมที่น่าคิด (ตอนที่ 2)

เซลล์กระดูกมีการสลายและสร้างใหม่อยู่เสมอ ซึ่งแคลเซียมเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการนี้ การได้รับแคลเซียมมากขึ้นจะช่วยให้กระดูกมีการซ่อมแซมได้และแข็งแรง

กระดูกและฟันมีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 99 ของแคลเซียมในร่างกาย เราสามารถพบแคลเซียมในเลือด กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออื่นๆ แคลเซียมในกระดูกสามารถใช้เป็นแหล่งสำรองและค่อยๆ ปล่อยออกมาตามความจำเป็นของร่างกาย

โดยความเข้มข้นของแคลเซียมมีแนวโน้มที่ลดลงเมื่อมีอายุมากขึ้น ทั้งนี้เพราะแคลเซียมจะถูกปลดปล่อยออกจากร่างกายผ่านทางเหงื่อ เซลล์ผิวหนัง และของเสีย นอกจากนี้ในผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นจะมีการดูดซึมของแคลเซียมที่ลดน้อยลงเพราะระดับเอสโตรเจนที่ลดลง ซึ่งการดูดซึมจะแตกต่างกันไปขึ้นกับเชื้อชาติ เพศ และอายุ

จากการศึกษาพบว่า แคลเซียมให้ผลดี (Effective) ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. การเพิ่มระดับแคลเซียมในคนที่มีแคลเซียมต่ำ
  2. การป้องกันไม่ให้แคลเซียมต่ำ
  3. การลดระดับโปแตสเซียมที่สูง เมื่อมีการการฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenously)
  4. การใช้เป็นยาลดกรด (Antacid) อย่างแคลเซียมคาร์บอเนต
  5. การลดระดับฟอสเฟสในคนที่เป็นโรคไต

แคลเซียมน่าจะให้ผลดี (Likely Effective) ในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ใช้รักษาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) – การกินแคลเซียมจะช่วยป้องกันและรักษาการสูญเสียมวลกระดูก เพราะกระดูกส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตเต็มที่ในช่วงวัยรุ่น และความแข็งแรงของกระดูกผู้หญิงจะคงต่อไปจนอายุประมาณ 30-40 ปี หลังอายุ 40 ปี แล้วมวลกระดูกจะค่อยๆ ลดลงร้อยละ 0.5-1.0 ต่อปี ส่วนผู้ชายจะเกิดกรณีเช่นนี้ในอายุที่มากกว่า
  2. ป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกจะมากขึ้น ในกรณีที่กินอาหารที่มีแคลเซียมน้อย ลดโอกาสของกระดูกหัก
  3. ลดอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome = PMS) การกินแคลเซียมจะช่วยลดอารมณ์แปรปรวน (Mood swings) ท้องอืด (Bloating) ความอยากอาหาร และอาการเจ็บปวด

นอกจากนี้การได้รับแคลเซียมที่มากขึ้นจากอาหารก็ดูเหมือนว่าจะช่วยป้องกันอาการก่อนมีประจำเดือนได้ด้วย โดยผู้หญิงที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารเฉลี่ย 1,283 มก.ต่อวัน จะสามารถลดความเสี่ยงของอาการก่อนมีประจำเดือนได้ร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่กินแคลเซียมเสริมที่ 529 มก.ต่อวัน หรืออีกนัยหนึ่งการกินอาหารเสริมแคลเซียมอาจไม่สามารถป้องกันอาการก่อนมีประจำเดือนได้เหมือนแคลเซียมที่ได้จากอาหาร

  1. เพิ่มความหนาแน่นของกระดูกทารกในหญิงมีครรภ์ที่มีแคลเซียมน้อย
  2. ลดการสูญเสียมวลกระดูกในคนที่กินยาที่เรียกว่า คอร์ติโคสตีรอยด์ (Corticosteroids) ซึ่งเป็นยาที่ใช้ลดอาการบวมและอักเสบของทางเดินหายใจ เมื่อใช้ควบคู่กับวิตามินดี
  3. ลดระดับไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormone) ในคนที่มีภาวะไตวาย

แหล่งข้อมูล:

  1. Calcium. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-781-calcium.aspx?activeIngredientId=781&activeIngredientName=calcium [2014, March 25].