แคลเซียม อาหารเสริมที่น่าคิด (ตอนที่ 1)

นพ.สุวินัย บุษราคัมวงษ์ แพทย์อายุรกรรม ได้กล่าวตอบคำถามที่ว่า อายุ 40 แล้วควรกินอาหารเสริมแคลเซียมเม็ดเป็นประจำหรือไม่ว่า การที่จะเข้าไปสร้างเสริมกระดูกในวัยนี้ ไม่ทันกันแล้ว เพราะต้องเตรียมเสบียงไว้ตั้งแต่ตอนวัยรุ่น สำหรับตอนนี้ควรกินแคลเซียมจากธรรมชาติจะดีกว่า อย่างกินผักใบเขียวบ้าง กินนม ปลาตัวเล็กๆ ที่ทอดทั้งกระดูก

แต่หากจะกินแคลเซียมเม็ดด้วยก็ได้ แต่ควรกินสักสองเดือนและหยุดสักเดือน ค่อยมากินใหม่ เพื่อให้ร่างกายพักก่อน เพราะว่ายาอาหารเสริมทั้งหลายล้วนเป็นสารเคมีทั้งนั้น เพราะถึงแม้ปริมาณอาจจะน้อย แต่กินไปนานๆ ก็สะสมไปเรื่อยๆ

นพ.สุวินัย กล่าวเตือนว่า การกินแคลเซียมเม็ดมีปัญหาสองอย่าง คือ 1) เนื่องจากแคลเซียมดูดซึมได้ยาก อาจไปตกตะกอนในไต เกิดเป็นนิ่วในไตได้ และ 2) กินแคลเซียมมากๆ จะทำให้ข้อผิดรูป เพราะแคลเซียมจะไปสะสมตามข้อ ตามกระดูก ซึ่งอาจทำให้ข้อผิดรูปได้

แคลเซียม (Calcium) ใช้ในการรักษาและป้องกันระดับแคลเซียมที่ต่ำในร่างกาย รวมถึงภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis) โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) โรคกระดูกน่วม (Osteomalacia)

นอกจากนี้ยังใช้แคลเซียมในการรักษา อาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome = PMS) ขาเป็นตะคริวในหญิงมีครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia) และลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ (Colon and rectal cancers)

บางกรณีก็ใช้แคลเซียมในการรักษาอาการแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลำไส้ (Intestinal bypass surgery) ความดันโลหิตสูง คลอเรสเตอรอลสูง โรคไลม์ (Lyme disease) ใช้ลดระดับฟลูออไรท์ที่สูงในเด็ก และใช้ลดระดับสารตะกั่วที่สูง

[โรคไลม์ (Lyme disease) เป็นโรคติดต่อจากเห็บของกวางเป็นพาหะนำโรค อาการที่พบ คือ จะเริ่มมีอาการบวมแดงบริเวณที่เห็บมากัด เป็นลักษณะผื่นแบนราบหรือผื่นนูน เป็นวงแดง ๆ คล้ายกับเป้าธนูรัศมีประมาณ 2-3 เซนติเมตร เกิดหลังจากถูกเห็บกัด 2-3 วัน ซึ่งบางรายก็อาจไม่พบผื่น แต่จะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว และปวดตามข้อต่าง ๆ โดยจะเริ่มแสดงอาการหลังจากถูกเห็บกัดไปแล้วประมาณ 1-2 สัปดาห์]

แคลเซียมมีหลายสูตร สำหรับแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium carbonate) จะใช้เป็นสารลดกรดในการรักษาอาการจุกเสียดท้อง (Heartburn) ส่วนการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจะใช้ได้ทั้งแคลเซียมคาร์บอเนตและแคลเซียมอะซีเตท (Calcium acetate)

[แคลเซียมแต่ละชนิดจะแตกต่างกันที่การละลายของเกลือแคลเซียมที่ลำไส้ และปริมาณของแคลเซียมที่อยู่ในเกลือนั้นๆ และแคลเซียมแต่ละชนิด จะมีการเลือกใช้ที่แตกต่างกัน เช่น แคลเซียมคาร์บอเนตจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร มักแนะนำให้รับประทานพร้อมหรือหลังอาหารทันที นอกจากนี้อาจทำให้ท้องผูก จึงให้แก้ไขโดยแบ่งรับประทานหรือให้ดื่มน้ำมากขึ้น]

อาหารที่มีแคลเซียมได้แก่ นม และ ผลิตภัณฑ์ของนม ผักกะหล่ำเคล (Kale) บร็อคโคลี น้ำส้ม น้ำแร่ ปลากระป๋องที่มีกระดูกปลา และ ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่มีส่วนผสมของแคลเซียม เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. ผลเสียของการกินแคลเซียมเม็ดเป็นประจำ? http://manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9570000025305 [2014, March 24].
  2. Calcium. http://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-781-calcium.aspx?activeIngredientId=781&activeIngredientName=calcium [2014, March 24].