แคฟเฟอีน (Caffeine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

แคฟเฟอีน (Caffeine) เป็นสารเคมีที่สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมอง  ซึ่งเมื่อใช้เป็นยา จัดเป็นกลุ่มยาที่ใช้บำบัดอาการทางจิตอีกชนิดหนึ่ง(ยากระตุ้น)  สารแคฟเฟอีนมีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับสาร Adenine และ Guanine ซึ่งเป็นส่วนประกอบของสารพันธุกรรมประเภท DNA และ RNA สารแคฟเฟอีนพบมากในเมล็ดและใบของต้นพืชหลายชนิดบนโลกโดยเฉพาะต้นกาแฟที่ถูกนำมาใช้ในวงการเครื่องดื่มที่ใช้บำบัดอาการง่วงนอน มีเครือข่ายและช่องทางจำหน่ายแทบทุกมุมโลก แคฟเฟอีนไม่ใช่สารเสพติดแต่อย่างใด เพียงแต่ประชากรโลกให้ความนิยมชมชอบกับฤทธิ์ที่ช่วยกระตุ้น  สมองให้ตื่นตัวสดชื่นไม่ง่วงนอน สามารถปฏิบัติงานได้อย่างกระฉับกระเฉง แต่ต้องบริโภคในปริมาณ ที่เหมาะสม การได้รับสารแคฟเฟอีนที่มากเกินไปจะทำให้ใจสั่น นอนไม่หลับ สำหรับผู้ที่บริโภคหรือได้รับสารแคฟเฟอีนทุกวัน หากวันใดไม่ได้บริโภคอาจพบอาการที่เราเรียกกันว่าถอนยา/ลงแดงได้เช่น ง่วงนอน ปวดหัว หงุดหงิด เป็นต้น 

โดยปกติการบริโภคแคฟเฟอีนของผู้ใหญ่ที่ 400 มิลลิกรัม/วันจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย และเป็นประโยชน์กับสุขภาพแต่ไม่เหมาะกับเด็กๆ สำหรับกลุ่มวัยรุ่นไม่ควรบริโภคแคฟเฟอีนเกิน 100 มิลลิกรัม/วัน 

การแพทย์พบว่าการได้รับแคฟเฟอีนร่วมกับยาบางประเภท เช่นยา Ciprofloxacin และ Norfloxacin จะเพิ่มการทำลายสารแคฟเฟอีนที่บริโภคเข้าไป หรือการรับประทานยา Theophylline ร่วมกับแคฟเฟอีนจะทำให้ความเข้มข้นของยาTheophyllineในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งล้วนแล้วส่งผลต่อร่างกายทั้งสิ้น 

ในทางคลินิก ยาแคฟเฟอีนถูกนำมารักษาอาการของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้อย่าง เช่น

  • การเจริญผิดปกติของหลอดลมและเนื้อปอดในทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักตัวต่ำ (Bronchopulmo nary dysplasia of prematurity)
  • บำบัดอาการของทารกที่มีภาวะหยุดหายใจโดยเฉพาะกับทารกที่คลอดก่อนกำหนด

 ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาแคฟเฟอีน ซิเตรท (Caffeine citrate) เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้ใช้ในคราวจำเป็น ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้สูตรตำรับของยา Ergotamine tartrate ที่ผสมร่วมกับสาร/ยา Caffeine อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้บำบัดรักษาอาการปวดศีรษะประ เภทไมเกรนอีกด้วย 

รูปแบบของยาแผนปัจจุบันของยาแคฟเฟอีนที่พอจะพบเห็นได้จะเป็นยาแคฟเฟอีนเม็ดชนิดรับประทานและชนิดยาฉีด (Caffeine citrate injection) ซึ่งแต่ละชนิดของรูปแบบยามีความเหมาะ สมต่อกลุ่มผู้ป่วยที่แตกต่างกันออกไป

แคฟเฟอีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคฟเฟอีน

ยาแคฟเฟอีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บำบัดอาการง่วงนอน
  • รักษาอาการหยุดหายใจของทารกแรกคลอด

แคฟเฟอีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแคฟเฟอีนเป็นสารประเภท Methylxanthine ซึ่งจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า Phosphodiesterase (เอนไซม์มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสารเคมีต่างๆในสมอง) และออกฤทธิ์ที่บริเวณตัวรับ (Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Central adrenosine receptors เป็นผลให้เกิดการกระตุ้นสมองและกระตุ้นการหายใจของร่างกายมนุษย์ และเป็นที่มาของสรรพคุณทางยา

แคฟเฟอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคฟเฟอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:        

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด                      
  • ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น เช่นยา Ergotamine tartrate 1 มิลลิกรัม + แคฟเฟอีน 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดแคฟเฟอีนซิเตรท ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และ 20 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

แคฟเฟอีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาและขนาดยาแคฟเฟอีนต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ในที่นี้ขอยกเป็นเพียงตัว อย่างดังนี้ เช่น

  • สำหรับบำบัดอาการง่วงนอน: เช่น
  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 100 - 200 มิลลิกรัมทุกๆ 3 - 4 ชั่วโมง โดยใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไปๆ
  • สำหรับบำบัดรักษาอาการหยุดหายใจในเด็กทารก(นิยามคำว่าเด็ก): เช่น
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์ 28 - 33 สัปดาห์: เริ่มต้นให้หยดยาขนาด 20 มิลลิ กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้งเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาประมาณ 30 นาทีขึ้นไป ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่หยดยา 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาทีขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งในการทำหัตถการนี้ต้องคอยควบคุมปริมาณแคฟเฟอีนในกระแสเลือดของทารกเพื่อป้องกันมิให้ร่างกายทารกได้รับพิษจากแคฟเฟอีน ทั้งนี้ระดับ แคฟเฟอีนในกระแสเลือดของทารกที่ก่อให้เกิดอันตรายจะมีค่าตั้งแต่ 50 มิลลิกรัม/ลิตรขึ้นไป

*อนึ่ง:

  • ยาแคฟเฟอีนชนิดรับประทานสามารถรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
  • ยาแคฟเฟอีนซิเตรทที่ใช้รักษาการหยุดหายใจของทารกจะต้องใช้อย่างระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะกับทารกที่มีอาการชักหรือป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ระยะเวลาการใช้ยาแคฟเฟอีน ซิเตรทเพื่อบำบัดอาการหยุดหายใจของทารกนั้นอยู่ในช่วง 10 - 12 วัน ซึ่งทางคลินิกยังมิได้มีการศึกษาและประเมินความปลอดภัยต่อทารกหากมีการใช้ยานานกว่านี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแคฟเฟอีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคฟเฟอีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาแคฟเฟอีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการ รับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แคฟเฟอีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาแคฟเฟอีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ในกลุ่มผู้ป่วยได้แตกต่างกัน อาทิ ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาแคฟเฟอีน, เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี, รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคแผลในกระเพาะอาหาร, รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร, ซึ่งมีการตอบสนองและสามารถได้รับผลข้างเคียงของยาแคฟเฟอีนที่แตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตามอาจกล่าวถึงอาการข้างเคียงของยาแคฟเฟอีนในภาพรวมได้ดังนี้ เช่น

  • ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับยาก
  • กระสับกระส่าย
  • วิตกกังวล
  • มีอาการหงุดหงิด
  • คลื่นไส้
  • ปวดหัว

*บางกรณีอาจพบอาการข้างเคียงหลังใช้ยาแคฟเฟอีนที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้น เช่น อึดอัด/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ริมฝีปาก-ใบหน้า-ลิ้นมีอาการบวม เกิดผื่นคัน ท้องเสีย  อาเจียน  หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น เจ็บหน้าอก

อนึ่ง อาการข้างเคียงเหล่านี้อาจจะเกิดมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการตอบสนองของกลุ่มผู้ป่วยดังที่ได้กล่าวแล้ว หรืออาจไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงแต่อย่างใดเลยก็เป็นไปได้

*สำหรับอาการผู้ที่ได้รับยาแคฟเฟอีนเกินขนาด: อาจพบเห็นอาการสั่นของร่างกาย วิตกกังวล รู้สึกสับสน  ปัสสาวะบ่อย หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือ หัวใจเต้นเร็วมาก มีเสียงในหู เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุก  ปวดท้อง   นอนไม่หลับ  จนถึงขั้นเกิดอาการลมชักได้

 *ทั้งนี้ เมื่อเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือมีอาการจากการรับประทานยาแคฟเฟอีน                                 เกินขนาด ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้แคฟเฟอีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคฟเฟอีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของสูตรตำรับยาแคฟเฟอีน
  • ห้ามใช้ยาแคฟเฟอีนกระตุ้นให้ตื่นตัวทดแทนการนอนหลับโดยไม่จำเป็น
  • ห้ามใช้ยาแคฟเฟอีนชนิดรับประทานกับสตรีตั้งครรภ์เพราะส่งผลต่อทารกในครรภ์มารดาได้ โดยยาแคฟเฟอีนสามารถผ่านรกและเข้าสู่ทารก และอาจทำให้เกิดภาวะ กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเกิดภาวะอัมพาตของทารกจากยาแคฟเฟอีนส่งผลให้เกิดเกลือโพแทสเซียมในร่างกายทารกต่ำ
  • ห้ามรับประทานยาแคฟเฟอีนเกินขนาดด้วยจะกระตุ้นให้เกิดอาการข้างเคียงได้อย่างมากมายดังได้กล่าวในบทความนี้ ‘หัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์ฯ’
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • การใช้ยาแคฟเฟอีน ซิเตรทในทารกที่มีอาการป่วยอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีโรคปอด โรคซีด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด/ภาวะพิษเหตุติดเขื้อ, กรณีมีความผิดปกติด้านการทำงานของหัวใจของทารก ต้องให้กุมารแพทย์ประเมินความเสี่ยง ประโยชน์ และความปลอดภัยของทารกที่จะได้รับยานี้ก่อนการใช้ยานี้เสมอว่าเหมาะสมหรือไม่เพียงใด
  • ไม่ควรใช้ยาแคฟเฟอีน ซิเตรทกับทารกนานเกิน 10 - 12 วัน และระหว่างการใช้ยาจะต้องควบคุมมิให้ระดับยาแคฟเฟอีนในกระแสเลือดของทารกเกินมาตรฐานที่ก่อให้เกิดพิษกับร่างกายทารก
  • การใช้ยาแคฟเฟอีน ซิเตรทกับทารกที่มีอาการผิดปกติของอวัยวะตับ-ไต แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมกับร่างกายของทารกเป็นกรณีๆไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแคฟเฟอีนชนิดรับประทานกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแคฟเฟอีนกับมารดาที่เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมของตนเองด้วยยาแคฟเฟอีนสามารถซึมผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้
  • การใช้ยาแคฟเฟอีนกับผู้ป่วยเบาหวานควรต้องคอยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้เป็นปกติอยู่เสมอ
  • หากพบอาการแพ้ยาแคฟเฟอีน เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้า-ริมฝีปาก-ลิ้น-คอบวม มีลมพิษ-ผื่นคันขึ้นเต็มตัว ต้องหยุดใช้ยานี้แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคฟเฟอีนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แคฟเฟอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคฟเฟอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแคฟเฟอีน ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด เช่น ยา Tizanidine ด้วยจะ ทำให้ระดับยา Tizanidine ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นมีผลให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยต่ำลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาแคฟเฟอีน ร่วมกับยา Adenosine อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Adenosine ด้อยลงไป กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแคฟเฟอีน ร่วมกับยา Lithium อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยาแคฟ เฟอีนมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาแคฟเฟอีน ร่วมกับยา Methotrexate ที่ใช้บำบัดรักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Methotrexate ด้อยลงไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแคฟเฟอีนอย่างไร?

ควรเก็บยาแคฟเฟอีน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แคฟเฟอีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคฟเฟอีน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cafcit (แคฟซิท) WEST-WARD
PEP (เปป) Galpharm International Ltd
Avamigran (แอวาไมเกรน) A.Menarini
Degran (ดีแกรน) Daiichi Sankyo
Hofergot (โฮเฟอร์กอต) Pharmahof
Polygot (โพลีกอต) Central Poly Trading
Vivarin (ไววาริน) Glaxo

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Caffeine#Medical   [2022,Feb19]
  2. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/caffeine/art-20045678?pg=2  [2022,Feb19]
  3. https://www.drugs.com/dosage/caffeine.html#Usual_Adult_Dose_for_Drowsiness   [2022,Feb19]
  4. https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/SitePages/Caffeine.aspx  [2022,Feb19]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=caffeine  [2022,Feb19]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/ergotamine%20+%20caffeine?mtype=generic   [2022,Feb19]
  7. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28346   [2022,Feb19]
  8. https://www.drugs.com/pro/caffeine-citrate.html    [2022,Feb19]
  9. https://www.drugs.com/pregnancy/caffeine.html  [2022,Feb19]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/caffeine-index.html?filter=3&generic_only=   [2022,Feb19]
  11. https://www.drugs.com/mtm/caffeine-citrate-injection-oral-liquid.html   [2022,Feb19]
  12. https://www.drugs.com/imprints/v-v-18157.html   [2022,Feb19]