แก่ตั้งแต่เด็ก (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

แก่ตั้งแต่เด็ก

นอกจากนี้ ยังมีอาการเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งได้แก่

  • หนังหนาตึงตามลำตัวและแขนขา คล้ายโรคหนังแข็ง (Scleroderma)
  • ฟันโตช้าหรือผิดรูป/li>
  • สูญเสียการได้ยิน
  • ไม่มีไขมันใต้ผิวหนังและไม่มีมวลกล้ามเนื้อ
  • กระดูกหักง่าย
  • ข้อติด
  • ข้อตะโพกหลุด
  • ต้านอินซูลิน
  • เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว

เด็กที่เป็นโรคนี้มักจะมีปัญหาเรื่องผนังหลอดเลือด หลอดเลือดที่ลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ของร่างกายยึดและหนาตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เด็กส่วนใหญ่จึงเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดตีบแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งได้แก่

  • ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Cardiovascular problems) ซึ่งเป็นผลให้เกิดภาวะหัวใจวายหรือภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
  • ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง (Cerebrovascular problems) ซึ่งเป็นผลให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke)

แพทย์อาจวินิจฉัยโรคด้วยการดูจากอาการและลักษณะ การตรวจร่างกาย การทดสอบการได้ยิน การทดสอบสายตา การวัดชีพจรและความดันโลหิต การทดสอบยีน (Genetic testing)

ปัจจุบันยังไม่พบการรักษาโรคชราในเด็กแต่อย่างใด นักวิจัยกำลังอยู่ระหว่างการทำการทดลองถึงยาชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง (Farnesyltransferase inhibitors = FTIs) ที่อาจจะใช้ในการซ่อมแซมเซลล์และรักษาโรคนี้ได้ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ ก็คือ การควบคุมดูแลหลอดเลือดหัวใจ และมีการให้

  • ยาแอสไพรินปริมาณที่ต่ำประจำวัน เพื่อช่วยป้องกันภาวะหัวใจวาย
  • ยาอื่นๆ ที่จำเป็นต่อสภาพร่างกายเด็ก เช่น ยาลดคลอเรสเตอรอล ยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน หรือโกรธฮอร์โมน (Growth hormone) เพื่อเพิ่มความสูงและน้ำหนัก
  • การทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด (Physical and occupational therapy) เพื่อช่วยให้เด็กมีการเคลื่อนไหว ไม่ให้ข้อติดและสะโพกมีปัญหา
  • การถอนฟันน้ำนม เพื่อช่วยป้องกันเรื่องฟันแย่งกันขึ้นและให้ฟันแท้ขึ้นในตำแหน่งที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้ด้วยการให้เด็ก

  • ดื่มน้ำให้มาก อย่าให้มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration) โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กไม่สบายหรืออากาศร้อน
  • กินอาหารโดยแบ่งเป็นมื้อย่อยๆ และมีปริมาณอาหารที่ไม่มากในแต่ละมื้อ เพื่อช่วยเพิ่มแคลอรี่
  • ได้ออกกำลังกายเป็นปกติ (ควรปรึกษาแพทย์ถึงกิจกรรมที่เหมาะกับเด็กก่อน)
  • ใส่รองเท้าที่ลดการกระแทก เพราะการไม่มีไขมันบริเวณเท้าอาจทำให้เด็กรู้สึกถึงความไม่สบาย
  • ทายากันแดดที่มี SPF 15 เป็นอย่างน้อย
  • ฉีดวัคซีนให้เด็กตามกำหนดเหมือนเด็กปกติทั่วไป
  • ให้เด็กได้เรียนรู้ตามปกติ เพราะโรคชราในเด็กไม่ได้มีผลกระทบต่อเชาวน์ปัญญาของเด็กแต่อย่างไร

อนึ่ง มีโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และมีลักษณะคล้ายโรคชราในเด็ก ที่ชื่อว่า Wiedemann-Rautenstrauch syndrome และ Werner syndrome

บรรณานุกรม

1. Progeria. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/progeria/basics/definition/con-20029424 [2016, October 21].

2. Progeria. http://www.webmd.com/children/guide/progeria#1 [2016, October 21].