เฮพารินโมเลกุลเล็ก (Low molecular weight heparin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเฮพาริน(Heparin)เป็นยาที่มีฤทธิ์ต่อต้านและขัดขวางการจับตัวของเกล็ดเลือด(ยาในกลุ่ม ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) ประโยชน์ในทางคลินิกของยาเฮพารินมีดังนี้ เช่น

  • บำบัดและป้องกันภาวะลิ่มเลือดของหลอดเลือดดำ(Deep vein thrombosis)
  • บำบัดภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด(Pulmonary embolism)
  • รักษาภาวะลิ่มเลือดอุดตันภายในหลอดเลือดแดง(Arterial thromboembolism)
  • บำบัดอาการผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้ม(Heart attack คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน)
  • รักษาอาการผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากหลอดเลือดตีบ(Unstable angina)

ทั้งนี้ ยาเฮพารินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีดเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์สามารถสกัดยา/ตัวยาเฮพารินาจากปอดของสัตว์ประเภทวัว และจากลำไส้เล็กของสุกร จากการศึกษาพบว่า องค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานในระดับโมเลกุลของเฮพาริน เป็นสารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีการเรียงตัวกันเป็นสายยาว(Long chain) สารเฮพารินในธรรมชาติยังมีความแตกต่างกันโดยใช้มวลโมเลกุลมาเป็นตัวบ่งบอกคุณสมบัติ โดย ทั่วไป ยาเฮพารินที่พบเห็น จะมีมวลโมเลกุลอยู่ในช่วง 5–40 กิโลดัลตัน(KDa/ Kilodalton) และสาร/ยาเฮพารินที่นำมาใช้ทางคลินิก มักจะมีมวลโมเลกุลอยู่ในช่วง 12–15 กิโลดัลตัน

ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งยาเฮพารินออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ Unfractionated heparin(UFH) และ เฮพารินโมเลกุลเล็ก (Low molecular weight heparin ย่อว่า LMWH)

เฮพารินโมเลกุลเล็กคืออะไร?

เฮพารินโมเลกุลเล็ก

สาร/ยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก(LMWH) เป็นยาเฮพารินที่มีมวลโมเลกุลไม่เกิน 8 กิโลดาลตัน ทางคลินิก สามารถใช้ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กเป็นทั้งยารักษาและยาป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดที่เกิดในหลอดเลือดดำและในหลอดเลือดแดง และ LMWH มีความแตกต่างจากเฮพารินประเภท Unfractionated heparin ดังนี้

ดังนั้น หากมองในภาพรวมๆ จะพบว่า ยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก/ LMWH น่าจะได้รับความนิยมมากกว่าชนิด UFH

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีกี่แบบ?

ยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก/ LMWH ยังถูกแบ่งย่อยและมีชื่อเรียกตามมวลโมเลกุล ดังนี้

  • Bemiparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 3.6 กิโลดัลตัล
  • Nadroparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 4.3 กิโลดัลตัล
  • Reviparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 4.4 กิโลดัลตัล
  • Enoxaparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 4.5 กิโลดัลตัล
  • Parnaparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 5.0 กิโลดัลตัล
  • Certoparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 5.4 กิโลดัลตัล
  • Dalteparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 5.0 กิโลดัลตัล
  • Tinzaparin มีมวลโมเลกุลเฉลี่ย 6.5 กิโลดัลตัล

นอกจากความแตกต่างกันในด้านมวลโมเลกุลแล้ว LMWH แต่ละตัวยังส่งผลต่อปัจจัยที่เกี่ยวพันธ์กับการจับตัวของเกล็ดเลือด อย่างปัจจัยที่เรียกว่า Factor Xa และ Factor IIa ในสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป มีLMWHบางตัวที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย อาทิ Nadroparin, Enoxaparin, และ Tinzaparin เป็นต้น

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีข้อห้ามใช้อะไรบ้าง?

ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กมีข้อห้ามใช้ เช่น

1. ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้/ LMWH

2. ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้สารประกอบ/สารกันบูดประเภทซัลไฟท์(Sulfite) หรือแพ้สารเบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) ด้วยในสูตรตำรับของยาเฮพารินโมเลกุลเล็กจะมีองค์ประกอบของสารดังกล่าวอยู่ด้วย

3. ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย หรือผู้ที่มีประวัติหลังการใช้ยาประเภทเฮพารินแล้วเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำตามมา

4. ห้ามใช้ขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกอยู่แล้ว เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาหรือในลำไส้(เลือดออกในทางเดินอาหาร)

5. ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไต ด้วย ยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก จะมีการกำจัดออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปทางที่ไต/ทางปัสสาวะ ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจะกำจัดยาเฮพารินโมเลกุลเล็กออกจากร่างกายได้ช้าและน้อยกว่าปกติ จึงจะส่งผลทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา

6. ระวังการใช้ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร

7. ห้ามใช้ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กที่หมดอายุแล้ว

8. ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้

9. ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเฮพารินโมเลกุลเล็กด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีไข้
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบโลหิตวิทยา: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย เกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง

กรณีได้รับเฮพารินโมเลกุลเล็กเกินขนาดแก้ไขได้อย่างไร?

ทางคลินิก จะใช้ยา Protamine sulfate ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการทำงานของเฮพาริน ปกติ Protamine sulfate จะถูกจัดเตรียมคู่กับยาเฮพารินที่รวมถึงยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก เพื่อใช้เป็นยาต้านพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงของยาเฮพาริน

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นลักษณะยาที่ต้องฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

เราจะพบเห็นการใช้ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กได้ในสถานพยาบาลเท่านั้น และการใช้ยาจะต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์แต่ผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเฮพารินโมเลกุลเล็กอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้าม/หลีกเลี่ยงการใช้ยาเฮพารินโมเลกุลเล็กกับยา กลุ่มNSAIDs , Aspirin Dextran, และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือดชนิดรับประทาน เพราะจะทำให้มีภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาเฮพารินโมเลกุลเล็กอย่างไร?

ควรเก็บยาเฮพารินโมเลกุลเล็กภายใต้คำแนะนำของเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เฮพารินโมเลกุลเล็กมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเฮพารินโมเลกุลเล็ก มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Clexane(เคลกเซน) sanofi-aventis
FRAXIPARINE(ฟราซิพารีน) Glaxo
Innohep(อินโนเฮพ)LEO Pharmaceutical Products
FRAGMIN(แฟรกมิน)Vetter Pharma-Fertigung

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Heparin#Heparin_structure [2017,Dec23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Low_molecular_weight_heparin [2017,Dec23]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Enoxaparin_sodium#Side_effects [2017,Dec23]
  4. https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/Fraxiparine_Dr_1312356668736.pdf [2017,Dec23]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/020484s011lbl.pdf [2017,Dec23]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/1999/20287s8lbl.pdf [2017,Dec23]