เฮปาโตบลาสโตมา (Hepatoblastoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เฮปาโตบลาสโคมา/มะเร็งเฮปาโตบลาสโตมา หรือ มะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา(Hepatoblastoma ย่อว่า HB) เป็นมะเร็งตับปฐมภูมิของเด็ก/มะเร็งตับในเด็ก(Primary liver cancer, คือมะเร็งเกิดจากเซลล์ตับเอง ไม่ใช่มะเร็งอวัยวะอื่นๆแพร่กระจายมาตับ)โดยเฉพาะเด็กเล็ก โดยประมาณ 95% ของผู้ป่วยจะมีอายุต่ำกว่า 4 ปี (มักพบในช่วงอายุต่ำกว่า 1-2ปี)

เฮปาโตบลาสโตมา เป็นมะเร็งพบน้อย สถิติในสหรัฐอเมริกา พบในอายุน้อยกว่า1ปี 11.2ราย ต่อเด็ก1 ล้านคน และเป็นประมาณ 1.5 รายของมะเร็งในเด็กทั้งหมด(มะเร็งชนิดนี้พบในผู้ใหญ่เพียงเป็นการรายงานผู้ป่วยประปราย) พบในเด็กชายบ่อยกว่าเด็กหญิง ประมาณ 2-3:1 นอกจากนั้นคือ โรคส่วนใหญ่มักเกิดกับตับกลีบขวา ไม่ค่อยเกิดในตับกลีบซ้าย สำหรับในประเทศไทย มะเร็งชนิดนี้ พบได้น้อยมากเช่นกันและยังไม่มีการศึกษาสถิติการเกิดที่ชัดเจน

โรคมะเร็งตับในเด็ก(Pediatric liver cancer) มีหลากหลายชนิดเช่นเดียวกับโรคมะเร็งตับในผู้ใหญ่ แต่ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดเกือบทั้งหมดของมะเร็งตับในเด็ก คือ ชนิดที่เรียกว่า “เฮปาโตบลาสโตมา หรืออีกการออกเสียง คือ เฮพาโทบลาสโตมา(Hepatoblastoma)” ซึ่งในบทความนี้ จะกล่าวเฉพาะ ‘มะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาในเด็ก’เท่านั้น เพราะเป็นชนิดพบบ่อย และทั่วไปเมื่อกล่าวถึง มะเร็งตับในเด็ก หรือ”มะเร็งเฮปาโตบลาสโตมา” จะหมายถึง ”มะเร็งเฮปาโตบลาสโตมาในเด็ก”

มะเร็งเฮปาโตบลาสโตมา แบ่งเป็น2กลุ่มตามการพยากรณ์โรค คือ กลุ่มที่โรครุนแรงน้อย กับ กลุ่มที่โรครุนแรง

ก. กลุ่มโรคลุกลาม/รุนแรงน้อย เรียกว่ากลุ่ม ‘Standard-risk HB’ คือ มะเร็งลุกลามจำกัดเฉพาะในตับ และสามารถผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด ร่วมกับมีสารมะเร็ง ชนิด Alphafetoprotein(AFP)ในเลือดมากกว่า100 ng/mL(นาโนกรัม/ลิตร)

ข.กลุ่มโรครุนแรง(High risk HB) คือ มะเร็งมีการแพร่กระจาย และ/หรือลุกลามทั่วตับ และ/หรือลุกลามออกนอกตับ และร่วมกับมีค่า AFPในเลือด น้อยกว่า100 ng/mL

โรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

เฮปาโตบลาสโตมา

สาเหตุเกิดมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาที่แน่นอนยังไม่ทราบ แต่พบปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • เชื้อชาติ: พบในเด็กผิวขาวมากกว่าเด็กผิวดำ
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่ (Familial adenomatous polyposis:FAP)
  • เด็กคลอดก่อนกำหนด และ/หรือน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ โดยเฉพาะต่ำกว่า 1,500 กรัม
  • เด็กมีความพิการแต่กำเนิด เช่น มีอวัยวะข้างใดข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง (Hemihypertrophy) มีโรคหัวใจ และ/หรือมีไตพิการตั้งแต่กำเนิด
  • มีประวัติติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ตั้งแต่แรกคลอด

โรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมามีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยที่สุดของมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา คือ การคลำได้ก้อนเนื้อในตับ/ในช่องท้องด้านขวาตอนบน(ตำแหน่งตับ)โดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย นอกจากนั้น อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยได้ เช่น

  • ถ้าก้อนเนื้อโตมาก เด็กจะแน่นอึดอัดท้อง ปวดท้อง อาเจียนเมื่อกินอาหาร
  • เบื่ออาหาร ผอมลง
  • ภาวะซีด
  • มีไข้ต่ำๆ
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง (โรคดีซ่าน)

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาได้จาก

  • ประวัติอาการ ประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว ประวัติการคลอด
  • อายุเด็ก
  • การตรวจร่างกายเด็กแล้วคลำพบ ตับโต/ก้อนในตับ อาจร่วมกับเด็กมีความพิการแต่กำเนิด
  • การตรวจเลือดดูค่าสารมะเร็งที่สร้างจากเซลล์มะเร็งตับชนิดนี้ที่เรียกว่า AFP (Alpha fetoprotein)

นอกจากนั้น คือ

  • การตรวจภาพตับด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ ตามดุลพินิจของแพทย์
  • แต่การวินิจฉัยที่แน่นอนจะได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

โรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมามีกี่ระยะ?

ระยะโรคของมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา เป็นระยะโรคที่ต้องประเมินหลังผ่าตัด คือ ดูจากการผ่าตัดว่าโรคลุกลามไปอวัยวะใดบ้าง ดูว่าสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่ และจากการตรวจก้อนเนื้อที่ผ่าตัดทางพยาธิวิทยาว่า เซลลมะเร็งลุกลามอย่างไร ที่เรียกว่า “Surgical staging” โดยทั่วไปแบ่งโรคเป็น 4 ระยะ คือ

  • ระยะที่1 ก้อนเนื้อมะเร็ง/โรคลุกลามอยู่เฉพาะในตับและสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้ทั้งหมด ทั้งที่มองเห็นจากตาเปล่าและจากการตรวจทางพยาธิวิทยา
  • ระยะที่2 โรคลุกลามอยู่เฉพาะที่ตับ และจากตาเปล่าสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อได้หมด แต่การตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่า ยังมีเซลล์มะเร็งเหลือค้างในตับ
  • ระยะที่3 ไม่สามารถผ่าตัดก้อนเนื้อได้ หรือผ่าตัดออกได้ไม่หมด(มองเห็นว่ามะเร็งเหลืออยู่ด้วยตาเปล่า) และ/หรือโรคลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงและ/หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่4 โรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ ปอด รองลงไปคือ สมอง (โดยเฉพาะกรณีเมื่อโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ) แต่ไม่ค่อยพบแพร่กระจายไปกระดูก

โรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมารุนแรงไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา ขึ้นกับ

  • ระยะโรค ยิ่งระยะโรคสูงขึ้น การพยากรณ์โรคไม่ดี
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง ถ้าเซลล์มะเร็งมีการแบ่งตัวสูง การพยากรณ์โรคเลวกว่าชนิดเซลล์แบ่งตัวต่ำ
  • การผ่าตัด ถ้าผ่าตัดมะเร็งออกได้หมด การพยากรณ์โรคดีกว่า และ
  • การตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด การพยากรณ์โรคดีเมื่อเซลล์มะเร็งตอบสนองดีต่อยาเคมีบำบัด

ทั้งนี้

  • ในโรคระยะที่1และ2 ชนิดเซลล์แบ่งตัวต่ำ การพยากรณ์โรคดีมาก อัตรารอดที่ห้า ปี นับหลังการวินิจฉัยโรคได้ สูงถึงประมาณ 80-95%
  • ส่วนในโรคระยะอื่นๆ ถ้าโรคตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัด และสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อได้ อัตรารอดฯที่ 3 ปี ประมาณ 70%
  • แต่ถ้าโรคตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัด และ/หรือผ่าตัดไม่ได้ การพยากรณ์โรคไม่ดี มักไม่มีอัตรารอดที่ 3ปี

รักษาโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาอย่างไร?

วิธีหลักในการรักษามะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา คือ

  • การผ่าตัด ร่วมกับยาเคมีบำบัด
  • ส่วนรังสีรักษาจะพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไป เช่น กรณีมีการแพร่กระจายเข้าสู่กระดูก หรือสมอง และ
  • ในส่วนการรักษาด้านยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในการศึกษา

นอกจากนั้น ในกรณีที่โรคลุกลามมาก แต่จำกัดอยู่เฉพาะในตับ ไม่ลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียง หรือเข้าต่อมน้ำเหลือง แพทย์อาจพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆไปเพื่อ

  • การรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนตับ(Liver transplantation)

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • รังสีรักษา: แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง รังสีรักษา การฉายรังสี และการใส่แร่ และเรื่อง เทคนิคการฉายรังสีรักษา
  • ยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีการแนะนำอย่างเป็นทางการในวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาระยะยังไม่มีอาการ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ในเด็กทุกคน โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังบอกเล่าอาการไม่ได้ ผู้ปกครองต้องคอยหมั่นดูแล เอาใจใส่ และเมื่อคลำพบก้อนเนื้อผิดปกติ ไม่ว่าเกิดในส่วนใดของร่างกาย ต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

ป้องกันโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาอย่างไร?

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุเกิดโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา การป้องกันโรคเต็มร้อยจึงเป็นไปไม่ได้ แต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ ถ้ามารดามีความพร้อมและดูแลการตั้งครรภ์เป็นอย่างดี เช่น

  • การปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ การฝากครรภ์ตั้งแต่ทราบว่าตั้งครรภ์ ทั้งนี้เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงจากคลอดก่อนกำหนด และ/หรือ จากภาวะเด็กมีน้ำหนักตัวน้อย และ/หรือจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดา และ
  • การฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีตั้งแต่แรกเกิด ก็อาจลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคนี้ลงได้

ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมาอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เนื่องจากผู้ป่วยโรคมะเร็งตับเฮปาโตบลาสโตมา จะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่ยังเป็นเด็กเล็ก การดูแลจึงต้องอาศัยบิดามารดา ญาติพี่น้อง ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ที่ให้การรักษาเด็ก และต้องนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเด็ก ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคมะเร็งเด็ก)

ผู้ดูแลเด็ก ควรต้องมีสมุดจดบันทึกอาการเด็ก และข้อสงสัย เพื่อการบอกเล่า ปรึกษา สอบถาม แพทย์ พยาบาล ได้ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งควรจดบันทึกคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล ด้วย เพื่อการดูแลเด็กได้ถูกต้องเช่นกัน

ผู้ดูแลเด็ก ต้องหมั่นสังเกตอาการต่างๆของเด็ก เพราะเด็กเล็กเกินกว่าจะบอกเล่าได้ ซึ่งควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดแพทย์นัดเสมอเมื่อเด็ก

  • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือ
  • มีอาการต่างๆเลวลง หรือ
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งมาก เช่น ท้องผูกมาก อาเจียนทุกครั้งที่กินยา
  • ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก กังวลในอาการเด็ก

บรรณานุกรม

  1. Czauderna.P , Garnier H. (2018). https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5770992/ [2018,Nov10]
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  4. Hiyama, E. Transl Pediatr.(2014); 3(4):293-299
  5. http://www.acco.org/hepatoblastoma/ [2018,Nov10]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/986802-overview#showall [2018,Nov10]
  7. http://www.chp.edu/our-services/transplant/liver/education/liver-disease-states/hepatoblastoma-liver-cancer [2018,Nov10]
  8. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/22692949% [2018,Nov10]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Hepatoblastoma [2018,Nov10]