เอ็มเอสกับวิตามินดี (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เอ็มเอสกับวิตามินดี

สำหรับการรักษาเมื่อมีอาการ (MS attacks) ได้แก่

  • การให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisone) ยาเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) เพื่อลดอาการอักเสบ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ความดันโลหิตสูง อารมณ์แปรปรวน และการคั่งของของเหลว (Fluid retention)
  • การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Plasma exchange / plasmapheresis) ในกรณีที่มีอาการใหม่ รุนแรง และไม่ตอบสนองต่อสเตียรอยด์

ส่วนการรักษาเมื่อโรคมีพัฒนาการ คนที่มีอาการเป็นๆ หายๆ จะมีวิธีการรักษาหลายอย่าง ยิ่งให้การโหมรักษา (Aggressive treatment) ในช่วงแรกจะสามารถลดอัตราการเป็นๆ หายๆ และลดการเกิดอาการใหม่ได้

อย่างไรก็ดี วิธีเหล่านี้ก็อาจสร้างความเสี่ยงให้กับร่างกายได้ ดังนั้น จึงต้องเลือกวิธีรักษาให้ถูกซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลา ความรุนแรงของโรค ผลการรักษาในครั้งก่อนๆ สุขภาพโดยรวม ค่าใช้จ่าย ฯลฯ โดยการรักษาโรคเอ็มเอสที่มีอาการเป็นๆ หายๆ ได้แก่ การให้ยา

  • ยา Beta interferons ซึ่งเป็นยาฉีดที่นิยมใช้รักษาโรคเอ็มเอส สามารถลดความถี่และความรุนแรงของการเป็นๆ หายๆ

ยานี้อาจมีผลข้างเคียงคล้ายอาการหวัดและมีปฎิกริยา ณ บริเวณที่ฉีด จำเป็นต้องมีการตรวจเลือดเพื่อดูค่าเอนไซม์ของตับ (Liver enzymes) เพราะตับจะถูกทำลาย

  • ยา Glatiramer acetate ที่หยุดยั้งระบบภูมิต้านทานที่ทำลายไมอีลีน โดยฉีดเข้าผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ณ บริเวณที่ฉีด
  • ยา Dimethyl fumarate เป็นยากินวันละ 2 ครั้งที่ช่วยลดอาการเป็นๆ หายๆ ผลข้างเคียงอาจทำให้ผิวหนังแดง (Flushing) ท้องเสีย (Diarrhea) คลื่นไส้ (Nausea) และเซลล์เม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ยา Fingolimod เป็นยากินวันละครั้งที่ช่วยลดอาการเป็นๆ หายๆ โดยการกินยาตัวนี้ต้องมีการดูแลอัตราการเต้นของหัวใจ 6 ชั่วโมง หลังการกินยาครั้งแรก เพราะอาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง และเห็นภาพไม่ชัด
  • ยา Teriflunomide เป็นยาช่วยลดอาการเป็นๆ หายๆ ยานี้อาจทำลายตับ ผมร่วง และอื่นๆ มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  • ยา Natalizumab เป็นยาช่วยยับยั้งเซลล์ทำลายที่อยู่ในกระแสเลือด อาจใช้เป็นยาหลักในการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคเอ็มเอสรุนแรง ยาตัวนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสในสมองที่เรียกว่า (Progressive multifocal leukoencephalopathy = PML) ในบางคน
  • ยา Alemtuzumab เป็นยาช่วยลดอาการเป็นๆ หายๆ ด้วยการจำกัดการถูกทำลายของเส้นประสาทโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว แต่ยานี้จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้ระบบภูมิต้านทานผิดปกติ
  • ยา Mitoxantrone เป็นยากดภูมิต้านทานที่สามารถมีผลต่อหัวใจและทำให้เป็นมะเร็งเลือดได้ มักใช้ในกรณีของโรคเอ็มเอสที่มีอาการรุนแรง

แหล่งข้อมูล

1. Multiple sclerosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/multiple-sclerosis/home/ovc-20131882 [2016, March 19].