เอ็มเอสกับวิตามินดี (ตอนที่ 2)

เอ็มเอสกับวิตามินดี

นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • กล้ามเนื้อเกร็งหรือชักกระตุก (Spasms)
  • เป็นอัมพาต (Paralysis) โดยเฉพาะที่ขา
  • มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ เช่น ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย
  • จิตใจแปรปรวน เช่น ขี้ลืม หรือ อารมณ์เหวี่ยง (Mood swings)
  • หดหู่ซึมเศร้า (Depression)
  • เป็นโรคลมชักหรือลมบ้าหมู (Epilepsy)
  • มีปัญหาเรื่องการกลืน (Dysphagia)
  • มีปัญหาทางเพศ เช่น ช่องคลอดแห้ง (Vaginal dryness) ในผู้หญิง หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erection problems) ในผู้ชาย เป็นต้น

คนที่เป็นโรคเอ็มเอสส่วนใหญ่จะมีอาการเป็นๆ หายๆ (Relapsing-remitting MS = RRMS) มีอาการเกิดใหม่หรืออาการกำเริบของโรคเป็นพักๆ เป็นวันๆ เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน และหลังกำเริบอาจจะทุเลาได้เป็นเดือนหรือเป็นปี

การกำเริบจะไม่มีสัญญานเตือน แต่บางทีก็เกิดในช่วงที่ป่วยหรือเครียด ทั้งนี้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในร่างกายเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้อาการเอ็มเอสแย่ลงได้ชั่วคราว (ซึ่งไม่ถือว่ามีอาการเป็นๆ หายๆ)

อาการที่รุนแรงมักจะทำให้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวและท่าทาง โดยพัฒนาการของโรคจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน บางคนอาจจะค่อยๆ เป็นในช่วงแรก และเป็นไปเรื่อยๆ ไม่ได้เป็นๆ หายๆ หรือที่เรียกว่า (Primary-progressive MS)

และประมาณร้อยละ 50 ของคนที่มีอาการเป็นๆ หายๆ จะพัฒนาไปเป็นชนิดที่อาการเลวลงในช่วงหลัง (Secondary-progressive multiple sclerosis = SPMS) ภายในเวลา 15-20 ปี

เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคเอ็มเอส แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำลายตัวเอง โดยระบบภูมิต้านทานที่ผิดปกติจะทำลายปลอกไมอีลินที่หุ้มใยประสาท เพราะเมื่อไมอีลีนถูกทำลาย ใยประสาทก็จะโผล่ออกมาก ทำให้การสื่อสารของประสาทอาจช้าลงหรือชะงักได้ นอกจากนี้ประสาทก็อาจจะทำลายตัวเองด้วย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเอ็มเอส ได้แก่

  • อายุ – โรคเอ็มเอสอาจเกิดได้กับคนทุกวัย แต่ที่มากที่สุดคือคนที่อายุ 15 ปี และ 60 ปี
  • เพศ – ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
  • ประวัติครอบครัว – ถ้ามีพ่อแม่หรือพี่น้องเป็นโรคเอ็มเอส ความเสี่ยงในการเป็นโรคจะมากขึ้น
  • การติดเชื้อบางชนิด – มีเชื้อไวรัสหลายตัวที่มีความเชื่อมโยงกับโรคเอ็มเอสเพราะทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายผิดปกติ เช่น เชื้อไวรัส Epstein-Barr ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อโมโนนิวคลีโอสิส (Infectious mononucleosis)

แหล่งข้อมูล

1. Multiple sclerosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/multiple-sclerosis/home/ovc-20131882 [2016, March 18].

2. Multiple Sclerosis. http://www.webmd.com/multiple-sclerosis/ [2016, March 18].

3. Multiple sclerosis. http://www.nhs.uk/Conditions/Multiple-sclerosis/Pages/Introduction.aspx [2016, March 18].