เอ็มพากลิโฟลซิน (Empagliflozin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอ็มพากลิโฟลซิน(Empagliflozin)เป็นยาในกลุ่ม โซเดียม-กลูโคส โคทรานสปอร์เตอร์-2 อินฮิบิเตอร์ (Sodium glucose co-transporter 2 inhibitor ย่อว่า SGLT2 inhibitor) ทางคลินิกใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับการยืนยันว่า ยานี้สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอดเลือดหัวใจสาเหตุจากเบาหวานได้ ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับเข้าสู่เลือดของน้ำตาลที่บริเวณไต โดยไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนแต่อย่างใด ซึ่งกลไกดังกล่าวส่งผลลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาเอ็มพากลิโฟลซิน เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาที่เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับโปรตีนในเลือดประมาณ 86.2% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12.4 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยาเอ็มพากลิโฟลซิน ควรต้องหมั่นตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และมารับการตรวจ ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1C, Hemoglobin A1C) ตามที่แพทย์นัดหมายเป็นระยะๆเพื่อดูความก้าวหน้าของการรักษา ซึ่งผู้ป่วยควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน
  • ห้ามนำไปใช้รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type1 diabetes)
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีระดับสารคีโตน (Ketone) ในปัสสาวะสูง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไต รวมถึงผู้ที่ต้องเข้ารับการล้างไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องล้างไต
  • สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแทบทุกชนิด ที่รวมยาเอ็มพากลิโฟลซินด้วย
  • โรคบางอย่างอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน เช่น โรค ความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไขมันในเลือดสูง ภาวะ/โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ มีภาวะปัสสาวะขัด มีการติดเชื้อราบริเวณอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ด้วยอาการป่วยดังกล่าวล้วนแล้วจะเกิดผลกระทบ/อาการอาจแย่ลงตามมา เมื่อมีการใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน
  • ยาบางประเภทหากใช้ร่วมกับเอ็มพากลิโฟลซินอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ น้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น Insulin/ยาอินซูลิน, Repaglinide, Glipizide, หรือยาบางกลุ่มเมื่อใช้ร่วมกับยาเอ็มพากลิโฟลซินจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา เช่น ยาขับปัสสาวะ อย่างเช่น Furosemide, HCTZ, Spironolactone
  • การใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน ให้รับประทานวันละ1 ครั้งในตอนเช้า ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ตัวยานี้จะออกฤทธิ์ในการป้องกันการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดในบริเวณไตได้ตลอดวัน ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน เพราะจะทำให้ระดับยานี้ในกระแสเลือดมีระดับความเข้มข้นสม่ำเสมอ ทำให้ง่ายต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ประการสำคัญห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานเองโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • หลังการใช้ยานี้หากพบอาการวิงเวียนศีรษะ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยาน พาหนะต่างๆ รวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • พกบัตรแสดงตนว่าเป็นผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานตลอดเวลา ทั้งนี้จะช่วยให้แพทย์รู้ประวัติการเจ็บป่วยและสามารถช่วยเหลือได้ทันเวลาเมื่อผู้ป่วยมีเหตุฉุกเฉินต่างๆ
  • ระวังการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนซึ่งเสี่ยงต่อการสูญเสียน้ำของร่างกาย(ภาวะขาดน้ำ) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดได้ง่ายขณะที่ใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน
  • การรับประทานยานี้อย่างถูกต้อง มักจะไม่ก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีปฐมพยาบาลเมื่อพบภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ผิดปกติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง น้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยโรคเบาหวาน)

ยาเอ็มพากลิโฟลซินจัดเป็นยารักษาโรคเบาหวานรุ่นใหม่ ในประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาเอ็มพากลิโฟลซินอยู่ในหมวดยาควบคุมพิเศษ การสั่งจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์มากำกับเท่านั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อยานี้จากร้านขายยาได้โดยตรง

อนึ่ง หากต้องการทราบข้อมูลของยาเอ็มพากลิโฟลซินเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาโรคเบาหวาน หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

เอ็มพากลิโฟลซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอ็มพากลิโฟลซิน

ยาเอ็มพากลิโฟลซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2

เอ็มพากลิโฟลซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอ็มพากลิโฟลซินมีกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะยับยั้งการดูดคืนกลับของน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดที่บริเวณไต โดยไม่มีผลกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินของตับอ่อน กลไกนี้จะส่งผลลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือด จนทำให้เกิดฤทธิ์รักษาได้ตามสรรพคุณ

เอ็มพากลิโฟลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอ็มพากลิโฟลซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 10 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด

เอ็มพากลิโฟลซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเอ็มพากลิโฟลซินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง ตอนเช้า ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 25 มิลลิกรัม โดยดูจากการตอบสนองของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วย
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงเป็นดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยโรคไตที่มีความรุนแรงระดับปานกลางไปจนถึงขั้นรุนแรงมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องหลีกเลี่ยงและห้ามใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยโรคตับที่ไม่รุนแรงหรือรุนแรงในระดับปานกลาง รวมถึงผู้สูงอายุ ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานยานี้แต่อย่างใด
  • ควรรับประทานยานี้ตรงเวลาในแต่ละวัน
  • สามารถใช้ยานี้ร่วมกับยารักษาเบาหวานชนิดอื่นได้ เช่น ยาอินซูลิน ยา Metformin โดยแพทย์จะปรับขนาดรับประทานอย่างเหมาะสมเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอ็มพากลิโฟลซิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไตระยะรุนแรง โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาเอ็มพากลิโฟลซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอ็มพากลิโฟลซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเอ็มพากลิโฟลซินตรงเวลา

เอ็มพากลิโฟลซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอ็มพากลิโฟลซินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะ/โรคไขมันในเลือดสูง เกิดภาวะเลือดเป็นกรด
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมาก ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน

มีข้อควรระวังการใช้เอ็มพากลิโฟลซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยานี้ เช่น อึดอัดหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว
  • ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอ็มพากลิโฟลซินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอ็มพากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอ็มพากลิโฟลซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซินร่วมกับยาอินซูลิน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาล ในเลือดต่ำ ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซินร่วมกับยา Gatifloxacin ด้วยอาจก่อให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ก็สูง กรณีที่เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำผู้ป่วยบางรายอาจช็อก หมดสติ จนถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเอ็มพากลิโฟลซินร่วมกับยา Hydrocortisone, Indinavir, สามารถส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของการลดน้ำตาลในกระแสเลือดของยาเอ็มพากลิโฟลซินร่วม ด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเอ็มพากลิโฟลซินอย่างไร

ควรเก็บยาเอ็มพากลิโฟลซิน ในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำ หรือในรถยนต์

เอ็มพากลิโฟลซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอ็มพากลิโฟลซินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Jardiance (จาร์เดียน) Boehringer Ingelheim

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gliflozin [2016,Dec17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Empagliflozin [2016,Dec17]
  3. https://www.drugs.com/ppa/empagliflozin.html [2016,Dec17]
  4. http://docs.boehringer-ingelheim.com/Prescribing%20Information/PIs/Jardiance/jardiance.pdf [2016,Dec17]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/jardiance [2016,Dec17]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/empagliflozin-index.html?filter=2#I [2016,Dec17]