เอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs: Non-nucleoside reverse-transcriptase inhibitors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs: Non-nucleoside reverse-transcriptase inhibitors) คือ กลุ่มยารับประทานหนึ่งหมวดที่ถูกนำมารักษาโรคเอดส์/เอชไอวี มีการพัฒนายา กลุ่มนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) และถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ.2552) เป็นจำนวน 4 รายการ และมักใช้ร่วมกับยาต้านเอชไอวีตัวอื่นด้วยเชื้อไวรัสเอชไอวีสามารถพัฒนาตัวเองให้ทนต่อยาที่นำมาใช้รักษาได้มากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ไวรัสเอชไอวีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เอชไอวี 1 และ เอชไอวี 2, ชนิดที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือเอชไอวี 1, ในขณะที่ชนิดเอชไอวี 2 จะแพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก, จากการเก็บสถิติตัวเลขจำนวนผู้ป่วยพบว่า ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) มีผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ทั่วโลกถึงประมาณ 40 ล้านคน

ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่นำมาบำบัดอาการป่วย ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้อาการป่วยทุเลา และยืดระยะเวลาการมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น ส่วนใหญ่ยาต้านเอชไอวี/เอดส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมามีวัตถุประสงค์ของการบำบัดอาการป่วยจากไวรัสกลุ่มเอชไอวี 1 ซึ่งรวมถึงยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอนี้ และกลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTIs: Nucleoside reverse transcriptase) ด้วย

สำหรับยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ประกอบด้วยตัวยาต่างๆ เช่นยา Efavirenz, Nevirapine, Delavirdine, Etravirine, Rilpivirine

ยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ส่วนใหญ่ที่รวมถึงยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอขึ้นทะเบียนในหมวด ยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

เอ็นเอ็นอาร์ทีไอ

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • บรรเทาอาการป่วยด้วยโรคเอดส์/ เอชไอวี
  • ป้องกันการติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีหลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ มีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะเข้าไปทำให้กระบวนการจำลองของสารพันธุกรรมชนิด อาร์เอ็นเอ (RNA) ในตัวไวรัสสูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นสารพันธุกรรมชนิด ดีเอ็นเอ (DNA) ด้วยกลไกนี้จึงทำให้การแพร่พันธุ์ของไวรัสเอดส์ชะลอตัวลง และทำให้อาการของผู้ป่วยบรรเทาและดีขึ้น

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาน้ำขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาเม็ดขนาด 25, 50, 100, 200 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีหลายชนิด ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดยาที่ใช้บ่อยซึ่งมีขนาดรับประทาน เช่น

1. Efavirenz: เช่น

ก. ผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป: เช่น รับประทานวันละ 600 มิลลิกรัมวันละ1 ครั้ง

ข. เด็กอายุ 3 - 17 ปี: เช่น

  • น้ำหนักตัว 32.5 - 40 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • น้ำหนักตัว 25 - 32.5 กิโลกรัม: รับประทาน 350 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • น้ำหนักตัว 20 - 25 กิโลกรัม: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • น้ำหนักตัว 15 - 20 กิโลกรัม: รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • น้ำหนักตัว 13 - 15 กิโลกรัม: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง

อนึ่ง:

  • ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี การใช้ยานี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหารก็ได้ และ
  • มักใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

2. Nevirapine: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน แล้วแพทย์อาจปรับเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป: เช่น รับประทาน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน แล้วแพทย์อาจปรับเป็น 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ พร้อมอาหารก็ได้ และ
  • มักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ ตัวอื่น

3. Etravirine: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น สามารถรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ มักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยาขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กรวมทั้งดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้หลังอาหาร

4. Rilpivirine: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร เพื่อช่วยการดูดซึมยาที่ดีขึ้น
  • ยานี้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

5. Delavirdine: เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในการศึกษาวิจัย

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ พร้อมอาหาร หรือหลังอาหาร ก็ได้
  • ยานี้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ตัวอื่น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก / หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานเมื่อลืมรับประทานยาต่างกันได้ขึ้น กับอาการของโรค ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อลืมรับประทานยา

อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงและ อาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอสามารถทำให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ผื่นคัน
  • เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ (ซึ่งหากพบอาการตับทำงานผิดปกติต้องหยุดใช้ยา)
  • มีไข้
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ค่าไขมัน ไตรกลีเซอไรด์ และคอเรสเตอรอลในเลือดสูง
  • ปวดท้อง
  • ปวดหัว
  • ไตวาย
  • โลหิตจาง/ โรคซีด
  • เบื่ออาหาร
  • ซึมเศร้า หงุดหงิด
  • นอนไม่หลับ
  • วิงเวียน
  • อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ
  • ห้ามใช้ยา Efavirenz ร่วมกับยาต่อไปนี้ เช่นยา Terfenadine (ยาแก้แพ้), Astemizole (ยาแก้แพ้), Cisapride (ยาโรคกระเพาะอาหาร), Midazolam (ยาให้นำเพื่อให้ง่วงนอนก่อนการให้ยาสลบ), Triazolam (ยานอนหลับ), Pimozide (ยาจิตเวช), Bepridil ( ยาโรคหัวใจ), และ Voriconazole (ยาต้านเชื้อรา)
  • พบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายหลังการใช้ยานี้ตามแพทย์นัดหมายอย่างเคร่งครัด
  • ปกติทั่วไป หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสเอดส์จากน้ำนมมารดา แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก ดังนั้นการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคไต โรคตับ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)
  • หลังรับประทานยานี้แล้ว มีอาการคล้ายกับการแพ้ยาเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม
  • ควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เปลี่ยนแปลงขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบัน ทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานใน การใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่น กัน

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ Nevirapine ร่วมกับ ยาแก้ปวด เช่นยา Methadone อาจทำให้ฤทธิ์ของการรักษาจากยาMethadone ด้อยลงไป หากมีไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยา Etravirine ร่วมกับยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Amiodarone สามารถลดความเข้มข้นของยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรปรับการรับประทานของผู้ป่วยให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยา Etravirine ร่วมกับยารักษาโรคลมชัก/ ยากันชักยาต้านชัก เช่นยา Carbamazepine, Phenobarbital, และ Phenytoin สามารถลดความเข้มข้นของยา Etravirine ในกระแสเลือด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยา Efavirenz ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับและสมอง จึงห้ามการรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยา Delavirdine พร้อมยาลดกรด ควรรับประทานห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?

สามารถเก็บยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ: เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Estiva-600 (เอสทิวา-600) Hetero
Stocrin (สะโตคริน) MSD
Neravir (เนราเวียร์) GPO
Nevirapine Mylan (เนวิราพีน มายแลน) Mylan
Intelence (อินเทเลนซ์) Janssen-Cilag
Edurant (เอดูแรนท์) Janssen-Cilag
Viramune (วีรามูน) Boehringer Ingelheim
GPO-Vir Z250 (จีพีโอ-เวียร์ ซีท250) GPO
GPO-Vir S30 (จีพีโอ-เวียร์ เอส30) GPO
Atripla (อะทริพลา) Gilead

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Discovery_and_development_of_non-nucleoside_reverse-transcriptase_inhibitors [2021,Sept25]
  2. https://www.poz.com/drugs/classes/Non-Nucleoside-Reverse-Transcriptase-Inhibitors?utm_campaign=301_Redirect&utm_source=aidsmeds [2021,Sept25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Reverse-transcriptase_inhibitor [2021,Sept25]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2745993/ [2021,Sept25]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Stocrin/?type=brief [2021,Sept25]
  6. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Estiva-600/?type=brief [2021,Sept25]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Neravir/?type=brief [2021,Sept25]
  8. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Intelence/?type=brief [2021,Sept25]
  9. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Edurant/?type=brief [2021,Sept25]
  10. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Nevirapine%20Mylan/?type=brief [2021,Sept25]
  11. https://www.mims.com/thailand/drug/info/intelence [2021,Sept25]
  12. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1088/rescriptor-oral/details [2021,Sept25]
  13. https://en.wikipedia.org/wiki/Delavirdine [2021,Sept25]