เอ็นบาดเจ็บ (Tendon injury) เอ็นอักเสบ (Tendinitis) เอ็นเสื่อม (Tendinosis)

บทความที่เกี่ยวข้อง
เอ็นบาดเจ็บ

เอ็นบาดเจ็บ(Tendon injury) โดย “เอ็น” ในที่นี้หมายถึง “เอ็นกล้ามเนื้อ” โดย อาการสำคัญของเอ็นกล้ามเนื้อ/เอ็นฯบาดเจ็บ คือ การเจ็บตรงตำแหน่งของเอ็นฯนั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อกดลงตรงตำแหน่งนั้นๆ ซึ่งมักเป็นตำแหน่งใกล้ข้อหรือรอบๆข้อที่เอ็นฯนั้นเกาะอยู่ อาจมีการบวมตรงจุดนั้นร่วมด้วย อาจเจ็บตลอดเวลา แต่จะเจ็บมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวเอ็นฯ และจะเจ็บน้อยลง หรือไม่เจ็บ เมื่อพักใช้งานเอ็นฯนั้น

การบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อ แบ่งภาวะบาดเจ็บได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

ก. เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (เอ็นอักเสบ): เมื่อเอ็นกล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บทันที หรือการบาดเจ็บเกิดภายใน 2-3 วัน และเป็นการบาดเจ็บที่เกิดร่วมกับมีการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ(การอักเสบฯ)ของเอ็นฯที่ตรวจพบจากการตรวจทางพยาธิวิทยา สาเหตุ เช่น เอ็นกล้ามเนื้อพลิก(ข้อเท้าพลิก) หรือเกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม Statin หรือยาปฏิชีวนะกลุ่ม Quinolone จะเรียกการบาดเจ็บลักษณะนี้ว่า “เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ หรือเอ็นอักเสบ (Tendinitis หรือ Tendonitis)” ซึ่งการอักเสบลักษณะนี้ถ้าได้รับการรักษาเร็ว การบาดเจ็บจะหายได้ในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ การบาดเจ็บของเอ็นกล้ามเนื้อในลักษณะนี้พบได้น้อย ประมาณ 10-20%ของเอ็นกล้ามเนื้อบาดเจ็บ ทั้งหมด

ข. เอ็นกล้ามเนื้อเสื่อม (เอ็นเสื่อม): เมื่อเอ็นกล้ามเนื้อค่อยๆบาดเจ็บสะสม ทีละเล็กทีละน้อย เริ่มต้นอาจไม่มีอาการ จนต่อมา อาการบาดเจ็บมากขึ้นๆ เรื้อรัง โดยสาเหตุจะเกิดจากการเสื่อมของเนื้อเยื่อเอ็นฯ ทั้งนี้พยาธิสภาพของเอ็นฯอาจมีการอักเสบฯเกิดร่วมด้วยแต่พบได้น้อยมาก เรียกการบาดเจ็บจากการเสื่อมของเอ็นนี้ว่า “ เอ็นกล้ามเนื้อเสื่อม หรือ เอ็นเสื่อม (Tendinosis)” เช่น การบาดเจ็บของเอ็นฯจากการใช้งานเอ็นฯซ้ำๆต่อเนื่อง เช่น เล่นกีฬา การออกกำลังกาย งานคอมพิวเตอร์ ผู้สูงอายุ ซึ่งการบาดเจ็บลักษณะนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังนานประมาณ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยถ้าได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อาการจะบรรเทาได้ในระยะเวลาประมาณ 3-6เดือน แต่โดยทั่วไป อาการจะเป็นๆหายๆ ทั้งนี้ การบาดเจ็บแบบ Tendinosis นี้พบได้บ่อยมาก ประมาณ 80-90% ของการบาดเจ็บของเอ็นฯทั้งหมด

ทั้งนี้ เมื่อเกิดการบาดเจ็บของเอ็นฯ แพทย์มักใช้คำว่า “Tendinopathy” โดยไม่ได้เจาะจงพยาธิสภาพของอาการว่าเป็น “การอักเสบ” หรือ “เป็นการเสื่อม” แต่ในอดีต แพทย์เรียกการบาดเจ็บของเอ็นฯจากทุกพยาธิสภาพรวมกัน ว่า “เอ็นอักเสบ(Tendinitis)” เนื่องจากในอดีตยังไม่มีการศึกษารายละเอียดทางพยาธิวิทยาของเอ็นฯนั่นเอง

อนึ่ง เมื่อเอ็นฯบาดเจ็บจากสาเหตุใดๆก็ตามที่การวินิจฉัยไม่มีผลพยาธิสภาพ/การตรวจทางพยาธิวิทยา คือแพทย์วินิจฉัยเพียงจากข้อมูลทางคลินิก(จากอาการผู้ป่วย การตรวจร่างกาย อาจมีการตรวจเอกซเรย์ หรือ เอมอาร์ไอ แต่ไม่มีการตรวจชิ้นเนื้อ/การตรวจทางพยาธิวิทยาจากเอ็นที่บาดเจ็บ) แพทย์เรียกเอ็นบาดเจ็บทุกกลุ่มที่วินิจฉัยจากทางคลินิกนี้ว่า “Tendinopathy”

บรรณานุกรม

  1. Wilson,J., and Best,T.(2005). Am Fam Physician.72, 811-818
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Tendinopathy [2019,Nov9]
  3. https://www.tendinosis.org/index.shtml [2019,Nov9]