เอ็กซเรย์เต้านมฟรี ผู้มีปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม (ตอนที่ 3)

กองทุนวิจัยมะเร็งโลก (The World Cancer Research Fund) ได้ประเมินว่าร้อยละ 38 ของมะเร็งเต้านมในสหรัฐอเมริกาสามารถป้องกันได้ด้วยการลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการออกกำลังกาย และรักษาน้ำหนักตัวให้พอดี ยังมีการประเมินถึงการป้องกันด้วยวิธีดังกล่าวว่าได้ผลที่อัตราร้อยละ 42 ในอังกฤษใน ร้อยละ 28 ในบราซิล และร้อยละ 20 ในจีน

การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ มีหลายวิธีการที่ใช้ในการตรวจ เช่น การคลำเต้านมด้วยตนเอง การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) การตรวจยีนส์/จีนส์ (Genes) การตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) และเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic resonance imaging)

ในปี ค.ศ. 2011 องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรที่ชื่อ The Cochrane Collaboration ได้สรุปว่าการตรวจแมมโมแกรมสามารถลดอัตราการตายของมะเร็งเต้านมได้ร้อยละ 15 หน่วยปฏิบัติการป้องกันเฉพาะกิจของอเมริกัน (U.S. Preventive Services Task Force) ได้แนะนำว่าโดยทั่วไปผู้หญิงอายุระหว่าง 50–74 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 2 ปี

แต่ก็ระบุว่าการตรวจแมมโมแกรมที่ถี่เกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านมจากรังสีเอกซ์เรย์ได้ และในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็ง ควรตรวจแมมโมแกรมตั้งแต่อายุไม่มาก อาจมีการตรวจหายีนส์ ชื่อ BRCA (= Breast cancer) และ/หรือตรวจเอ็มอาร์ไอด้วย

การรักษามะเร็งเต้านมส่วนใหญ่รักษาด้วยการผ่าตัด และอาจให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือรังสีรักษา (Radiotherapy) หรือรักษาควบคู่กันไป การผ่าตัดอาจทำโดยตัดเต้านมทั้งหมดทิ้ง (Mastectomy) หรือ ตัดเพียงเสี้ยวหรือ 1 ใน 4 ส่วนของเต้านม (Quadrantectomy) หรือตัดเพียงส่วนเล็กน้อย (Lumpectomy) เพื่อความสวยงาม ผู้ป่วยบางราย อาจใช้การทำศัลยกรรมเต้านมใหม่ (Breast reconstruction surgery) หรือใช้เต้านมเทียมแทน

ปัจจุบันการรักษาโดยการใช้ยามี 3 กลุ่มหลักๆ คือ

  1. การใช้ยาต้านฮอร์โมน เช่น ยา Tamoxifen หรือยายับยั้งเอ็นไซม์ (Aromatase inhibitor) ซึ่งใช้ในกรณีของผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว เช่น ยา Femara
  2. การให้เคมีบำบัด ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งทุกระยะ เป็นระยะเวลาประมาณ 3–6 เดือน เช่น ยา Adriamycin (ที่รู้จักกันในชื่อ “AC”) และ
  3. การใช้ยารักษาตรงเป้าชนิดหนึ่ง (Monoclonal antibodies) เช่น ยา Trastuzumab เป็นต้น ทั้งนี้การรักษาด้วยยาทุกประเภทล้วนมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป

หลังการผ่าตัด จะมีการให้รังสีรักษาในบริเวณที่เป็นโรค และบริเวณต่อมน้ำเหลือง เพื่อทำลายเซลล์เนื้องอกที่มีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถเลาะออกได้ด้วยการผ่าตัด รังสีรักษาอาจทำโดยการฉายรังสีภายนอก (External beam radiotherapy) หรือการฝังแร่ (Brachytherapy) รังสีรักษาในระดับที่เหมาะสมสามารถลดการกลับมาเป็นซ้ำ (Recurrence) ได้ถึงร้อยละ 50–66 และถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกรณีที่มีการการตัดก้อนเนื้องอกออกแบบเล็กน้อย หรือเป็นมุมกว้าง (Wide local excision)

การพยากรณ์โรค หรือความรุนแรงของโรค (Prognosis) เป็นสิ่งที่จำเป็นในการตัดสินใจเลือกวิธีรักษา เพราะผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคที่ดีจะได้รับการรักษาที่ไม่มากเกินไป เช่น ใช้เพียงวิธีการตัดก้อนเนื้องอกออกและฉายรังสี หรือการใช้ยาต้านฮอร์โมน ในขณะที่ผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดีอาจจะได้รับการรักษาที่มากขึ้นตามความจำเป็น เช่น การถูกผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าหรือการใช้เคมีบำบัด

แหล่งข้อมูล:

  1. Breast cancer. http://en.wikipedia.org/wiki/Breast_cancer [2012, May 17].