เอโทมีเดท (Etomidate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอโทมีเดท(Etomidate) เป็นยากระตุ้นให้สลบชนิดออกฤทธิ์ระยะสั้นๆแต่ออกฤทธิ์เร็ว ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1964 (พ.ศ.2507) ทางคลินิกมีการใช้ยานี้บ่อยๆเพื่อระงับอาการปวดและทำให้เกิดอาการชา การได้รับยานี้ขนาดที่เหมาะสมจะทำให้ผู้ป่วยสามารถตอบสนองต่อเสียงหรือต่อการสัมผัสเบาๆได้(Conscious sedation)

ข้อดีของยาเอโทมีเดทที่พอจะสรุปออกมาเป็นลำดับดังนี้

1. เป็นยาที่ใช้ได้ง่าย ด้วยมีเภสัชภัณฑ์แบบยาฉีด มีการคำนวณขนาดการให้ยากับผู้ป่วยไม่ยุ่งยาก ปริมาณของยาที่ใช้ทำให้เกิดอาการชาไม่กดการหายใจของผู้ป่วย มีความปลอดภัยต่อการทำงานของหัวใจ สมอง และต่อระบบการไหลเวียนเลือด

2. เป็นยาสงบประสาทที่สามารถใช้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ด้วยธรรมชาติของยาชนิดนี้ยานี้ จะช่วยลดความดันภายในศีรษะ/ในกะโหลกศีรษะ ตลอดจนกระทั่งรักษาระดับความดันในหลอดเลือดแดงได้เป็นปกติ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาเอโทมีเดทนั้น ยังมีข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ ดังนี้ เช่น

  • การใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้มากกว่ากับผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปี
  • ไม่เหมาะที่จะใช้ยานี้กับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปีลงมา ด้วยมีงานวิจัยพบว่า ยาเอโทมีเดทสามารถทำให้การทำงานในสมองของเด็กเล็กเกิดปัญหา แพทย์จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังอย่างมากเมื่อต้องใช้ยานี้กับเด็ก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้มีความเสี่ยงต่อการกดการหายใจของทารก
  • กรณีที่มีอาการแพ้ยาเอโทมีเดท จะทำให้เกิดผื่นคัน ผิวหนังบวมและหลุดลอก อาจมีไข้หรือไม่ก็ได้ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เสียงแหบจากกล่องเสียงบวม ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม
  • ยาเอโทมีเดท อาจทำให้ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ โดยจะแสดงออกมาด้วยอาการ ปวดศีรษะ หรือวิงเวียน ตามมา
  • อาจทำให้มีอาการ หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อมีอาการแข็ง/หดเกร็ง การเคลื่อนตัวของร่างกายทำได้ยาก
  • บวมแดงในบริเวณผิวหนังที่ได้รับการฉีดยานี้

อนึ่ง บางประเทศได้ใช้ยาเอโทมีเดทเป็นยาสงบประสาทในกระบวนการที่เรียกว่า การุณยฆาต(แพทย์ช่วยให้ผู้ป่วยเสียชีวิต) อย่างไรก็ตาม ยาเอโทมีเดทถูกบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทยโดยมีเงื่อนไขการใช้ยานี้ คือ “สำหรับเป็นยานำสลบในผู้สูงอายุหรือในผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านระบบหัวใจและหลอดเลือด” และสมารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วไป

เอโทมีเดทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอโทมีเดท

เอโทมีเดทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาสลบ ช่วยสงบประสาท สำหรับทำหัตถการผ่าตัด

เอโทมีเดทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอโทมีเดท มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่ชื่อว่า GABAA receptor ขณะที่ยานี้ออกฤทธิ์ จะส่งผลให้เกิดการปิดกั้นการส่งสัญญาณประสาท/กระแสประสาทอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของฤทธิ์สงบประสาทและระงับความรู้สึก

เอโทมีเดทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอโทมีเดทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีดที่ประกอบด้วยตัวยาEtomidate ขนาด 2 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

เอโทมีเดทมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเอโทมีเดทมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับทำให้สลบและสงบประสาท เช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เข้าหลอดเลือดดำในบริเวณแขนอย่างช้าๆ(30–60 วินาที)
  • เด็ก: ใช้ยาเพียง 30% ของขนาดการใช้ในผู้ใหญ่
  • ผู้สูงอายุ: ฉีดยาขนาด 0.15–0.20 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยเป็นไปตามความเห็นของแพทย์

อนึ่ง:

  • บันทึกทางเภสัชจลนศาสตร์ของยาเอโทมีเดทได้ระบุรายละเอียดเรื่องการกระ จายตัว การออกฤทธิ์ การกำจัดยาออกจากร่างกาย ดังนี้คือ หลังได้ รับการฉีดยาเพียง 30–60 วินาที ตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์; ระยะเวลาการออกฤทธิ์เพื่อสงบประสาทขึ้นอยู่กับขนาดยาที่ได้รับ เช่น ได้รับยา 0.15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตัวยาจะออกฤทธิ์ 2–3 นาที หรือ ได้รับยา 0.30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตัวยาจะออกฤทธิ์ 4–10 นาที; ขณะที่ยามีการออกฤทธิ์ ยาบางส่วนจะถูกทำลายหรือเปลี่ยนโครงสร้างโดยตับและเอนไซม์ในเลือดที่ชื่อว่า Plasma esterases; ยานี้มีการรวมตัวกับโปรตีนในเลือดได้ประมาณ 76%; ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2.6–3.5 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
  • แพทย์จะลดขนาดการใช้ยานี้ลงตามความเหมาะสม เมื่อต้องใช้กับผู้ป่วยโรคตับ

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาเอโทมีเดท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอโทมีเดทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เอโทมีเดทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเอโทมีเดท สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น สะอึก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียน หลังการผ่าตัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก นอนกรน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีดยา
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ

*อนึ่ง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด อาจมีอาการความดันโลหิตต่ำ ระบบการหายใจขัดข้อง หลับนาน การช่วยเหลือผู้ป่วย แพทย์จะรักษาตามอาการ และอาจใช้ยาHydrocortisone กับผู้ป่วยที่ขนาด 50–100 มิลลิกรัมหรือขนาดตามดุลพินิจของแพทย์

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอโทมีเดทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอโทมีเดท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะผู้ป่วยดื่มสุรามาในขณะได้รับบาดเจ็บเพราะจะมีการกดสมองมากขึ้น
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเอโทมีเดทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอโทมีเดทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอโทมีเดทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเอโทมีเดทร่วมกับ ยา Selegiline ด้วยจะกระทบต่อความดันโลหิตของผู้ป่วย ก่อนการใช้เอโทมีเดทต้องหยุดการใช้ยา Selegiline เป็นเวลา 10–14 วันขึ้นไป
  • ห้ามใช้ยาเอโทมีเดทร่วมกับผู้ที่เพิ่งดื่มสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำและมีฤทธิ์กดประสาท/กดสมองอย่างรุนแรง
  • ห้ามใช้ยาเอโทมีเดทร่วมกับ ยา Sodium oxybate ด้วยจะทำให้เกิดอาการ ง่วงนอน วิงเวียน สับสน ซึม ความดันโลหิตต่ำ ตามมา

ควรเก็บรักษาเอโทมีเดทอย่างไร?

ควรเก็บยายาเอโทมีเดทในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาที่หมดอายุ และหยิบใช้ยาที่ใกล้จะหมดอายุใช้ก่อน ตามหลัก First in First out (ยาที่หมดอายุก่อนต้องถูกนำไปใช้ก่อน)

เอโทมีเดทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอโทมีเดท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Amidate (แอมิเดท)Hospira

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Hypnomidate

บรรณานุกรม

  1. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2017/018227s032lbl.pdf [2018,Feb24]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Etomidate#Pharmacology [2018,Feb24]
  3. http://www.si.mahidol.ac.th/anesth/undergrad/basic%20moderate%20sedation.pdf [2018,Feb24]
  4. https://www.drugs.com/cdi/etomidate.html [2018,Feb24]
  5. https://www.drugs.com/uk/etomidate-lipuro-2-mg-ml-emulsion-for-injection-leaflet.html [2018,Feb24]
  6. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/192#item-10209 [2018,Feb24]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/etomidate/?type=brief&mtype=generic [2018,Feb24]