อะไรกัน ALS ? (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

เอแอลเอส

การรักษาอย่างอื่นที่ทำได้ก็คือ การรักษาตามอาการและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยทีมจากหลายฝ่ายด้วยกัน เช่น แพทย์ (Physicians) เภสัชกร (Pharmacists) นักกายภาพบำบัด (Physical therapists) นักแก้ไขการพูด (Speech therapists) นักโภชนาการ (Nutritionists) และพยาบาลผู้ดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวและสบายตัวเท่าที่จะทำได้

กายภาพบำบัดและอุปกรณ์ช่วยเหลือเฉพาะ เช่น อุปกรณ์ช่วยเดิน (Walker) อุปกรณ์พยุง (Brace) จะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น การรักษาโรคโดยการให้ทำกิจกรรมเบาๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ การขี่จักรยานอยู่กับที่ (Stationary bicycling) จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ไม่ได้รับผลกระทบแข็งแรงขึ้น สามารถพัฒนาสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถต่อสู้กับความอ่อนล้าและซึมเศร้าได้

นักแก้ไขการพูดจะช่วยสอนให้ผู้ป่วยปรับตัวในการพูดเพื่อให้เสียงดังและชัดขึ้น และเมื่อมีการพัฒนาของโรคไปมาก นักแก้ไขการพูดจะช่วยสอนให้ผู้ป่วยรู้จักการตอบรับหรือปฏิเสธด้วยสายตาหรือวิธีอื่นที่ไม่ต้องพูด เช่น การใช้ซอฟต์แวร์สังเคราะห์เสียง (Speech synthesizers) และการสื่อสารโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ (Computer-based communication systems) เป็นต้น

ส่วนนักโภชนาการนั้นก็มีส่วนสำคัญในการดูแลผู้ป่วย เพราะต้องเตรียมอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ แบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยและหลีกเลี่ยงอาหารที่กลืนยาก อาจต้องใช้เครื่องดูด (Suction devices) เพื่อป้องกันการสำลัก น้ำลายไหล และเมื่อโรคมีการพัฒนาไปมากอาจต้องให้อาหารทางสายยางที่หน้าท้อง

การให้อาหารทางสายยางจะช่วยลดโอกาสในการสำลักและเป็นโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการสูดเอาของเหลวเข้าในปอด

กรณีที่กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจอ่อนแรงลง ก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจซึ่งมีหลายแบบ เช่น Intermittent positive pressure ventilation (IPPV) หรือ Bilevel positive airway pressure (BIPAP) หรือ Biphasic cuirass ventilation (BCV)

เครื่องช่วยหายใจเหล่านี้จะช่วยให้ปอดของผู้ป่วยขยายตัว ผู้ป่วยและญาติควรพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ในการเลือกใช้เครื่อง เพราะแต่ละแบบจะมีราคาและให้คุณภาพชีวิตที่แตกต่างกัน และแม้ว่าเครื่องช่วยหายใจจะช่วยให้หายใจได้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดพัฒนาการของโรคได้

ในตอนท้าย แพทย์หญิงทัศนีย์ ได้กล่าวถึง คำแนะนำเบื้องต้นในการสังเกต หากสงสัยว่าจะเป็น ALS คือ สังเกตอาการ หากมีอาการแขนขาไม่มีแรง มีอาการลีบแต่จะไม่มีอาการชา โดยแขนขาจะลีบค่อนข้างเร็ว และสังเกตกล้ามเนื้อบริเวณที่ลีบ เนื้อจะเต้นเป็นพลิ้ว บ่งบอกเบื้องต้นว่าเป็นโรคในกลุ่มนี้

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคเพื่อดูแลผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับระบบประสาทที่ยากไร้ทั้งหมด ผ่านทางสถาบันประสาทวิทยา มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา โดยบริจาคได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลรามาธิบดี เลขที่บัญชี 026-430-952-1 หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-354-6118

แหล่งข้อมูล

1. Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) Fact Sheet. http://www.ninds.nih.gov/disorders/amyotrophiclateralsclerosis/detail_ALS.htm [2014, August 31].
2. Amyotrophic lateral sclerosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Amyotrophic_lateral_sclerosis [2014, August 31].