อะไรกัน ALS ? (ตอนที่ 3)

เอแอลเอส

ALS เป็นโรคที่ยากต่อการวิเคราะห์โรค เพราะมีหลายโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคนี้ เช่น โรคเอดส์ (Human immunodeficiency virus = HIV) โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่เป็นชนิดพบได้น้อย (Human T-cell leukemia virus = HTLV) โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ (Polio West Nile virus) และโรคไลม์ (Lyme disease)

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการทดสอบเพียงอย่างเดียวที่ใช้วิเคราะห์โรคนี้ได้ ต้องอาศัยการตรวจหลายอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นโรคนี้ ซึ่งได้แก่

  • การตรวจด้วยไฟฟ้า เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electomyography = EMG) และการตรวจความเร็วการนำสัญญาณประสาท (Nerve conduction velocity = NCV)
  • การตรวจเลือดและปัสสาวะ รวมถึงการตรวจระดับโปรตีนเฉพาะโรคในเลือดด้วยเทคนิคเฉพาะ (Resolution serum protein electrophoresis) ระดับฮอร์โมนธัยรอยด์และพาราธัยรอยด์ (Thyroid and parathyroid hormone levels) การเก็บปัสสาวะตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาโลหะหนัก
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง (Spinal tap)
  • การเอ็กซเรย์และการตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI)
  • ภาพฉีดสารทึบรังสีของไขสันหลัง (Myelogram of cervical spine)
  • การตัดชิ้นเนื้อของกล้ามเนื้อและ/หรือประสาทไปตรวจ (Biopsy)
  • การทดสอบทางประสาทวิทยา (Neurological examination)

อาการในระยะแรกเริ่มของโรค ALS อาจมีเพียงเล็กน้อยจนไม่ทันสังเกต แต่เมื่อแสดงอาการอาจปรากฏดังนี้

  • กล้ามเนื้ออ่อนล้าในตำแหน่งดังต่อไปนี้ – มือ แขน ขา การพูด การกลืน หรือการหายใจ
  • กล้ามเนื้อกระตุก (Fasciculation) และเป็นตะคริว โดยเฉพาะที่มือและเท้า
  • มีความบกพร่องในการใช้แขนและขา
  • พูดไม่ชัด
  • ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการหายใจลำบากหรือกลืนลำบาก

เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ และยังไม่มีวิธีการรักษาใดที่สามารถจะหยุดโรคนี้ได้ มีเพียงยา Riluzole ที่ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ให้การยอมรับว่าสามารถใช้ชะลออาการได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2538

Riluzole จะช่วยยืดเวลาในการที่ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจออกไป อย่างไรก็ดีการใช้ยาชนิดนี้ จะต้องระวังเรื่องตับถูกทำลาย (พบประมาณร้อยละ 10 ของผู้ที่ใช้ยา) และผลข้างเคียงอื่นๆ ด้วย

สำหรับยาอื่นที่ใช้ อาจใช้เพื่อลดอาการอ่อนล้า แก้ตะคริว ควบคุมภาวะหดเกร็ง ลดการไหลของน้ำลายและเสมหะ (Phlegm) ที่มากเกินไป นอกจากนี้อาจมียาที่ช่วยลดปวด แก้อาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ กลืนลำบาก และท้องผูก

แหล่งข้อมูล

1. Amyotrophic lateral sclerosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Amyotrophic_lateral_sclerosis [2014, August 30].
2. What is ALS? http://www.alsa.org/about-als/what-is-als.html [2014, August 30].
3. Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) Fact Sheet. http://www.ninds.nih.gov/disorders/amyotrophiclateralsclerosis/detail_ALS.htm [2014, August 30].