อะไรกัน ALS ? (ตอนที่ 1)

เอแอลเอส

เทรนด์บอกบุญแบบไฮเทคโดยเอาน้ำแข็งในถังราดหัวที่คนทั่วโลกที่เรียกว่า “Ice Bucket Challenge” ได้ลามมาถึงคนดังในประเทศไทยแล้ว โดยเป็นโครงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS หรือ ALS Association ซึ่งแคมเปญนี้เป็นการรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัวระวังโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม

แคมเปญถูกออกแบบให้สร้างเป็นการบอกต่อ (Viral) โดยต้องหาชื่อเพื่อน 3 คน หากใครรับคำท้าก็ต้องหาชื่อเพื่อนต่อไปอีก 3 คน เป็นการท้าทายและส่งสารให้คนในโซเชียลเน็ตให้เห็นภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีผู้ท้า

ทั้งนี้ ผู้รับคำท้าต้องเอาน้ำเย็นเจี๊ยบราดหัวตัวเอง ทำให้รู้สึกตัวสั่นจนควบคุมไม่ได้ เป็นการสะท้อนกลับไปยังโรค ALS ที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้จนไปถึงระบบการหายใจได้ลำบาก

แพทย์หญิงทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาประสาทวิทยา สถาบันประสาทวิทยา เปิดเผยว่า โรค ALS หรือ โรค Amyotrophic lateral sclerosis เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ประสาท เกี่ยวกับควบคุมการเคลื่อนไหวตายไปก่อนอายุขัย

แพทย์หญิงทัศนีย์ กล่าวว่า อาการของคนไข้ ได้แก่ อาการกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง แขน ขา ลิ้น คอ แต่สติสัมปชัญญะจะดี สมองไม่เสื่อม จะมาพบแพทย์ด้วยอาการไม่มีแรง เช่น เมื่อมีอาการที่ขา ขาจะลีบ เป็นที่มือ มีอาการมือลีบ เป็นที่ปากจะมีลิ้นลีบ พูดไม่ชัด กลืนอาหารลำบาก สำลักได้

หากเป็นรุนแรงมากคือ เป็นทั้งตัว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กินอาหารเองไม่ได้ ต้องใส่สายให้อาหารหรือทางจมูก เจาะหน้าท้องให้อาหาร โดยโรคนี้พบได้ทั่วไปในทุกช่วงวัยทุกเพศ

แพทย์หญิงทัศนีย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติของผู้ป่วยโรคนี้อย่างชัดเจน แต่ยังพบผู้ป่วยไม่มาก ในส่วนของสถาบันประสาทวิทยา จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้อยู่ 50-100 ราย

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองที่บ้าน เป็นโรคเรื้อรัง จะมานอนโรงพยาบาลเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อ หรืออ่อนแรงมาก อาจเกิดแผลกดทับ หรือไปจนถึงรับประทานอาหารเองไม่ได้ ต้องใส่สายให้อาหาร เป็นการรักษาสภาวะแทรกซ้อน ส่วนในรายที่เป็นมากหายใจเองไม่ได้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็มารักษาที่โรงพยาบาล

แพทย์หญิงทัศนีย์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดได้ จะเป็นการรักษาตามอาการ มียาบางอย่างที่ได้รับการยอมรับให้ใช้ คือ การกลืนที่คอ แต่ไม่ได้ทำให้หายขาด เพียงแต่ทำให้อาการบรรเทาขึ้นได้

ส่วนข้อความที่บอกว่า หากเป็นโรคนี้ให้นับถอยหลังรอวันเสียชีวิต แพทย์หญิงทัศนีย์ กล่าวยืนยันว่าไม่จริง เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ขึ้นอยู่กับคนไข้ บางรายเป็นไม่รุนแรง สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ แต่ในรายที่เป็นรุนแรงก็อาจลุกลามเร็ว แต่ละรายของคนไข้นั้นจะต้องประเมินในเรื่องของการดูแลตัวเอง ว่ามีการดูแลตัวเองดีแค่ไหน อย่างไร เช่น ในรายที่มีปัญหาการกลืน ถ้าดูแลให้ไม่มีการสำลัก ก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ ดูแลแผลตามส่วนต่างๆ ที่มีอาการลีบไปให้ดี ไม่มีแผลติดเชื้อ บางรายสามารถใช้ชีวิตกับโรคนี้ได้ ดำเนินชีวิตปกติได้ 10-20 ปี

แหล่งข้อมูล

  1. 10 ข้อต้องรู้ Ice Bucket Challenge คืออะไร? http://www.thairath.co.th/content/444128 [2014, August 28].
  2. รู้จักโรค ALS สู่แคมเปญช่วยเหลือผู้ป่วยสุดดัง http://www.thairath.co.th/content/444546 [2014, August 28].