เอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ (ตอนที่ 2)

เอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ-2

      

      มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น”

      1. ตะโกน คือ การเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669

      2. โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ

      3. ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ

      หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

      การจมน้ำ (Drowning) เป็นกระบวนการของการไม่สามารถหายใจได้เมื่อจมลงในน้ำ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2557 ว่า ในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 372,000 ราย ซึ่งเป็นสาเหตุของการตาย 1 ใน 10 อันดับแรกที่เกิดกับเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก

      โดยกระบวนการของการจมน้ำมีลักษณะดังนี้

  • ผู้จมน้ำจะพยายามรักษาศีรษะให้อยู่เหนือน้ำ
  • เมื่อศีรษะจมลงใต้ผิวน้ำ จะมีการกลั้นหายใจ (Breath holding)
  • เมื่อน้ำเข้าสู่ทางเดินหายใจ (Upper airways) จะทำให้กล่องเสียง (Larynx) หดเกร็ง (Spasm)
  • เมื่อคลายการเกร็ง จะทำให้น้ำไหลเข้าสู่กล่องเสียงไปยังกิ่งก้านหลอดลม (Bronchial tree) และปอด (อย่างไรก็ดี จากการชันสูตรศพพบว่าประมาณร้อยละ 10-20 ของผู้ที่เสียชีวิตจากการจมน้ำจะไม่มีน้ำเข้าปอดเพราะกล่องเสียงจะหดเกร็งตลอดเวลา)
  • สมองจะหยุดทำงานในไม่กี่นาทีเมื่อขาดออกซิเจน (เซลล์สมองจะตายหากขาดออกซิเจนประมาณ 4 นาที)
  • หัวใจจะเต้นไม่เป็นจังหวะ เพราะกล้ามเนื้อหัวใจที่ต้องการออกซิเจนเพื่อทำงานกำลังจะหยุดเพราะขาดออกซิเจน (Oxygen deprivation)
  • ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กจมในน้ำเย็นอาจจะมีเวลาที่นานกว่านี้ เพราะจะเกิดปฏิกริยาดํานํ้าที่เรียกว่า Mammalian diving reflex ซึ่งเป็นการดํานํ้าตามลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

      ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการจมน้ำ ได้แก่

o ทารกที่จมในอ่างอาบน้ำ (Bathtub)

o เด็กเล็กที่มักจะเล่นน้ำในสระน้ำ บ่อน้ำ

o วัยรุ่น (อายุ 15-25 ปี) ที่เล่นน้ำตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ทะเล

      ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดการจมน้ำ ได้แก่

o การว่ายน้ำไม่เป็น

o การดื่มแอลกอฮอล์

o การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจนทำให้ไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง เช่น อุบัติเหตุจากการกระโดดน้ำที่ตื้น

o สภาพร่างกาย เช่น มีอาการชัก หมดสติ หัวใจวาย เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. ปิดเทอม เตือนเด็กเสี่ยง "จมน้ำ" เสียชีวิตยกกลุ่ม. https://news.thaipbs.or.th/content/270144 [2018, April 4].
  2. Drowning (Dry, Wet, Near). https://www.medicinenet.com/drowning/article.htm#what_is_drowning_and_what_are_the_statistics [2018, April 4].
  3. Drowning.http://www.who.int/violence_injury_prevention/other_injury/drowning/en/ [2018, April 4].
  4. Drowning. https://www.emedicinehealth.com/drowning/article_em.htm [2018, April 4].