เออร์โลทินิบ (Erlotinib)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเออร์โลทินิบ(Erlotinib หรือ Erlotinib hydrochloride หรือ Erlotinib HCl) จัดอยู่ในกลุ่มยารักษาตรงเป้า(Targeted therapy) มีกลไกการออกฤทธิ์โดยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส(Tyrosine kinase inhibitors) ซึ่งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เป็นเอนไซม์สำคัญเกี่ยวกับการใช้โปรตีนของเซลล์ ทางคลินิกนำยานี้มารักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต(Non small cell lung cancer) และมะเร็งตับอ่อน(Pancreatic cancer)

ยาเออร์โลทินิบ มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นแบบยารับประทาน ทำให้สะดวกในการใช้กับผู้ป่วย ตัวยาสามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 59% ยานี้จะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 36.2 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระและบางส่วนไปกับปัสสาวะ

ทั่วไป ก่อนได้รับยาเออร์โลทินิบ แพทย์จะซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วยดังนี้

  • เคยแพ้ยาหรือไม่
  • อยู่ในระหว่างการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้ยา Cisplatin หรือ Carboplatin หรือไม่
  • ขณะนี้ มีการใช้ยาชนิดใดบ้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งยากลุ่ม Proton pump inhibitors เช่นยา Dexlansoprazole, Esomeprazole, Lansoprazole, Omeprazole, Pantoprazole, Rabeprazole
  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือในภาวะให้นมบุตรหรือไม่

อนึ่ง สัญญาณหรือลักษณะทางร่างกายที่ผู้ป่วยสามารถใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงอันตราย/ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาเออร์โลทินิบ และต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว มีดังต่อไปนี้ เช่น

  • คลื่นไส้ทุกครั้งเมื่อจะรับประทานอาหาร
  • อาเจียนมากกว่า 4–5 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • มีอาการท้องเสีย 4–6 ครั้งต่อวัน
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • ช่องปากเป็นแผล
  • ระคายเคืองตามาก
  • ไม่สามารถดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • มีปัสสาวะสีคล้ำ กระหายน้ำ ปากแห้ง และ
  • มีอาการวิงเวียน

ยาเออร์โลทินิบเป็นยารักษาโรคมะเร็งที่มีจำหน่ายในบ้านเรา คณะกรรมการอาหารและยาได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษที่มีอันตราย และต้องใช้ยานี้ภายใต้คำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว ซึ่งเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาล โดยใช้ชื่อการค้าว่า Tarceva

เออร์โลทินิบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เออร์โลทินิบ

ยาเออร์โลทินิบ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต(Non small cell lung cancer)
  • รักษามะเร็งตับอ่อน(Pancreatic cancer)

เออร์โลทินิบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เซลล์ในร่างกายมีกระบวนการทำงานของโปรตีน/สารโปรตีนอยู่หลายลักษณะ ที่ผิวของเยื่อหุ้มเซลล์จะมีตัวรับ(Receptor ย่อว่า R)ที่ชื่อว่า Epidermal growth factor receptor(EGFR) โดยทำหน้าที่รับ Growth factor(GF) ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นกิจกรรมของโปรตีน(Protein activity) Growth factor จะเข้าจับกับ EGFR และเกิดการกระตุ้นกรดอะมิโนที่ต่อเชื่อมกับ EGFR ภายใต้เยื่อหุ้มเซลล์ที่มีชื่อว่าไทโรซีน(Tyrosine) กลไกภายในเซลล์จะอาศัยเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เป็นตัวริเริ่มกิจกรรมต่างๆของโปรตีน ตัวยาเออร์โลทินิบจะเข้ายับยั้งการทำงานของไทโรซีนไคเนส จึงเป็นเหตุให้กิจกรรมของโปรตีนในเซลล์หยุดลง ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้เซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด

เออร์โลทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเออร์โลทินิบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Erlotinib ขนาด 25, 100 และ 150 มิลลิกรัม/เม็ด

เออร์โลทินิบมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาเออร์โลทินิบมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: ขนาดและระยะเวลาในการรับประทานยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์ แต่ผู้เดียว โดยรับประทานยาขณะท้องว่าง และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงขนาดยาและความปลอดภัยของการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขณะได้รับยานี้ ควรปฏิบัติตนและดูแลตนเองดังนี้

  • รับประทานยานี้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือรับประทานหลังอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมง ทั่วไปแพทย์จะกำหนดให้รับประทานยาเพียงวันละ1ครั้ง
  • ดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำของร่างกาย หรือเป็นไปตามคำสั่ง ของแพทย์
  • ผู้ที่ได้รับยานี้ จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าว
  • หากมีไข้ หรือเกิดภาวะติดเชื้อเกิดขึ้น ต้องรีบส่งผู้ป่วยมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล โดยเร็ว
  • เพื่อลดอาการช่องปากเป็นแผล ให้ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่ม กลั้วปาก ด้วยสารละลายเบกกิ้งโซดา(Baking soda) ½ - 1 ช้อนชา/น้ำ 1 แก้ว หรือประมาณ 240 ซีซี วันละ 3 ครั้ง สามารถใช้เกลือโซเดียมคลอไรด์ แทน Baking soda ก็ได้ โดยใช้ในสัดส่วนเดียวกัน
  • ลดอาการข้างเคียงอย่างเช่น อาการคลื่นไส้ โดยใช้ยาแก้คลื่นไส้ที่สั่งจ่ายจากแพทย์ ผู้ที่รักษาตนเอง ไม่ซื้อหายาใดๆมารับประทานเองโดยมิได้ปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งซึ่งมีแสงแดดจัดๆ ก่อนออกแดดควรทาครีม ป้องกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป หรือสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายมิดชิด
  • รับประทานอาหารอย่างเหมาะสมตามแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แนะนำ และพักผ่อนอย่างพอเพียง เพื่อให้การฟื้นสภาพร่างกายเป็นไปง่ายขึ้น
  • ห้ามดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
  • ห้ามสูบบุหรี่
  • หากพบอาการข้างเคียงใดๆที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ให้รีบนำผู้ป่วยมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเออร์โลทินิบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเออร์โลทินิบอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเออร์โลทินิบต่อเนื่อง จึงจะเกิดประสิทธิผลของการรักษา กรณีลืมรับประทานยานี้ สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มปริมาณรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

เออร์โลทินิบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเออร์โลทินิบ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีอาการท้องเสีย กระเพาะอาหารอักเสบ ท้องอืด ปวดท้อง เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ เส้นประสาทอักเสบ มีไข้
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผื่นคัน มีภาวะผมร่วง เกิดแผลพุพอง เกิดสิว ผิวหนังอักเสบ มีภาวะStevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อตา: เช่น เยื่อตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น ตับวาย เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อลายสลาย
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว
  • ผลต่อไต: เช่น กรวยไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หายใจขัด ไอ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวลด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีโปรตีนในปัสสาวะ

มีข้อควรระวังการใช้เออร์โลทินิบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเออร์โลทินิบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ หากพบความผิดปกติเกิดขึ้นกับปอดของผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้ เช่น มีอาการไอ หายใจขัด และต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ห้ามทิ้งทำลายยาลงในคูคลองสาธารณะ รวมถึงบนพื้นดิน
  • ระวังการเกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้เออร์โลทินิบกับตับของผู้ป่วย ซึ่ง ทั่วไป แพทย์จะนัดตรวจร่างกายผู้ป่วย พร้อมกับตรวจเลือดดูระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดว่า อยู่ในระดับปกติดีหรือไม่
  • ระวังการเกิดแผลในเยื่อตา/เยื่อตาอักเสบ เกิดภาวะหัวใจวาย มีแผลในระบบทางเดินอาหาร ไตวายเฉียบพลัน อาการเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ผู้ป่วยควร ศึกษาทำความเข้าใจกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เพื่อจะได้ปฏิบัติตัวหรือสามารถสังเกตอาการผิดปกติได้อย่างถูกต้อง
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาเออร์โลทินิบด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เออร์โลทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเออร์โลทินิบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาเออร์โลทินิบร่วมกับยา Dexlansoprazole, Lansoprozole, Pantoprazole, Rabeprazole, Omeprazole เพราะจะรบกวนการดูดซึมของยาเออร์โลทินิบจากระบบทางเดินอาหารจนทำให้ประสิทธิผลในการรักษาของยาเออร์โลทินิบลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเออร์โลทินิบร่วมกับยา Teriflunomide, Leflunomide ด้วยจะทำให้เกิดพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงกับตับมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาเออร์โลทินิบร่วมกับยา Butalbital จะทำให้ระดับยาเออร์โลทินิบใน กระแสเลือดลดลงจนทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาเออร์โลทินิบด้อยลงตามกันไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
  • การใช้ยาเออร์โลทินิบร่วมกับ ยา Amiodarone จะทำให้ระดับยาเออร์โลทินิบ ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยาเออร์โลทินิบสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษาเออร์โลทินิบอย่างไร?

ควรเก็บยาเออร์โลทินิบ ในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

เออร์โลทินิบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเออร์โลทินิบ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tarceva (ทาร์ซีว่า)Roche

บรรณานุกรม

  1. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/tarceva.aspx [2018,July7]
  2. https://www.youtube.com/watch?v=3nODx3cT1RU [2018,July7]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tarceva/?type=brief [2018,July7]
  4. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021743s14s16lbl.pdf [2018,July7]
  5. https://www.drugs.com/sfx/erlotinib-side-effects.html [2018,July7]
  6. https://www.drugs.com/mtm/erlotinib.html [2018,July7]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/erlotinib-index.html?filter=3&generic_only=#A_generic [2018,July7]