เอสเออาร์ไอ (SARI): เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (Serotonin antagonists and reuptake inhibitor)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

สารเซโรโทนิน(Serotonin) หรือ 5-ไฮดรอกซีทริปตามีน (5-hydroxytryptamine ย่อว่า 5-HT)เป็นสารสื่อประสาทที่มีความเกี่ยวพันต่อการทำงานของร่างกายและของสมองเป็นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ขนานนามให้เซโรโทนินเป็นสารที่ทำให้เกิดความสุข ด้วยเซโรโทนินสามารถทำให้วงจรการนอนหลับ-การตื่นนอนของมนุษย์เป็นไปอย่างปกติ ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร และคอยควบคุมสภาวะอารมณ์ ความจำ การเรียนรู้ ตลอดจนกระทั่งช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ การมีสารเซโรโทนินต่ำจะก่อให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า กลุ่มยาที่ทำให้มีการเพิ่มเซโรโทนินของสมองจึงถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อบำบัดอาการซึมเศร้าดังกล่าว คือ “กลุ่มยา เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ (Serotonin antagonists and reuptake inhibitors”ที่เรียกสั้นๆว่า “เอสเออาร์ไอ SARIs” ที่เป็นอีกหนึ่งกลุ่มยาที่ใช้เป็นยาต้านอารมณ์ซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า และยังช่วยบำบัดอาการวิตกกังวลทำให้ นอนหลับ

ยาเอสเออาร์ไอ มีกลไกการออกฤทธิ์กับตัวรับ(Receptor)ในสมองที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า 5-HT2A receptor ส่งผลยับยั้งการดูดซึมสารสื่อประสาท เซโรโทนิน นอร์อิพิเนฟริน(Norepinephrine) และโดพามีน (Dopamine) เก็บเข้าไปในเซลล์ประสาท จึงเป็นเหตุให้สารสื่อประสาทดังกล่าว มีระดับเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมซึ่งก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามมาในที่สุด

ตัวยาในกลุ่มเอสเออาร์ไอที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่

  • Etoperidone: เป็นยารับประทานใช้รักษาอาการซึมเศร้า เคยวางจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Axiomin, Centren, Depraser, Etomin, และ Staff ปัจจุบันไม่มีวางจำหน่าย
  • Lorpiprazole: เป็นยารับประทาน ใช้บำบัดอาการวิตกกังวล มีจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Normarex
  • Mepiprazole: เป็นยารับประทาน ใช้บำบัดอาการวิตกกังวลช่วยลดอาการซึมเศร้า พบเห็นการจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Psigodol และมีใช้ในประเทศสเปนเท่านั้น
  • Mepiprazole: เป็นยารับประทาน ใช้บำบัดอารมณ์ซึมเศร้าที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือมีภาวะตระหนก/ หวาดกลัว ปัจจุบันมีการใช้ยาตัวนี้น้อยลงด้วย Nefazodone สามารถสร้างความเสียหายต่อตับของผู้ป่วยได้
  • Trazodone: เป็นยารับประทาน ใช้รักษาอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล และเป็นยาตัวเดียวของกลุ่มเอสเออาร์ไอที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค การใช้ยาใดๆซึ่งรวมกลุ่มยาเอสเออาร์ไอจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ หรือขอคำปรึกษาข้อมูลก่อนการใช้ยาจากเภสัชกรตามร้านขายยาได้ทั่วประเทศ

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอสเออาร์ไอ

ยาเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์/SARI มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ ดังนี้ เช่น

  • ใช้รักษาโรคซึมเศร้า
  • รักษาอาการวิตกกังวล
  • ใช้เป็นยานอนหลับ

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลุ่มยาเอสเออาร์ไอ/SARIs จะออกฤทธิ์ปิดกั้นการรวมตัวของสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า Serotonin กับตัวรับชื่อ Serotonin( 5HT) receptor นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดคืนกลับของ Serotoninเข้าเซลล์ประสาท และยาเอสเออาร์ไอยังสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับชนิด Alpha1-adrenergic receptor ด้วยกลไกเหล่านี้ ทำให้มีปริมาณสารสื่อประสาทอย่าง Serotonin, Norepinephrine, และ/หรือ Dopamine ในสมองมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทอย่างเหมาะสม ส่งผลบำบัดภาวะซึมเศร้า อาการวิตกกังวลให้ดีขึ้น และยังทำให้นอนหลับได้อย่างปกติ

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาSARIsส่วนมากที่มีใช้ในปัจจุบันมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็น

  • ยาชนิดรับประทาน ทั้งแบบ แคปซูล และยาเม็ด

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีขนาดบริหารยาอย่างไร?

ด้วยคุณสมบัติของกลุ่มยาเอสเออาร์ไอ/SARIs มีความแตกต่างทางโครงสร้างเคมีในแต่ละตัวยา ส่งผลต่อขนาดการใช้ยาที่ต่างกันออกไป และยังต้องระวังเรื่องผลข้างเคียงอีกหลายประการจากยาเหล่านี้ ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยา SARIs ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยากลุ่ม เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยากลุ่มเอสเออาร์ไอ/SARIs สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ได้ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า หรือไม่ก็หัวใจเต้นเร็ว ตัวบวม ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ตัวสั่น
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ท้องเสียหรือ ท้องผูก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผื่นคัน
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินสืบพันธ์: เช่น มีภาวะองคชาติแข็งค้าง
  • ผลต่อตับ: เช่น เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ

มีข้อควรระวังการเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

สำหรับยาเอสเออาร์ไอ/SARIsที่ใช้เป็นยารักษาโรค มีข้อควรระวังต่างๆดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับยาอื่นใดโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
  • การใช้ยากับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นลักษณะของอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์/SARI มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาเอสเออาร์ไอ/SARIsร่วมกับยากลุ่ม MAOI ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมาเช่น อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง และอาจเกิดภาวะโคม่าได้
  • การใช้ยาเอสเออาร์ไอร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan จะทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ติดตามมาโดยพบอาการ คล้ายประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาSARI ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเซโรโทนิน แอนตาโกนิสต์ แอนด์ รีอัพเทค อินฮิบิเตอร์/SARIs มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Desirel (ดีไซเรล)Codal Synto
Trazo (ทราโซ) Medifive
Trazodone Pharmasant (ทราโซโดน ฟาร์มาซัน)Cental Poly Trading
Zodonrel (โซดอนเรล) Condrugs
Zorel (โซเรล)Utopain

บรรณานุกรม

  1. https://www.youtube.com/watch?v=4D3IlIcqny4 [2018,Feb17]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_antagonist_and_reuptake_inhibitor#Pharmacology [2018,Feb17]
  3. http://www.compoundchem.com/wp-content/uploads/2015/01/Classes-of-Antidepressants- Summary.pdf [2018,Feb17]
  4. https://www.revolvy.com/main/index.php?s=Serotonin%20antagonist%20and%20reuptake%20inhibitor&item_type=topic [2018,Feb17]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/trazodone/?type=brief&mtype=generic [2018,Feb17]