เอลบาสเวียร์ (Elbasvir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเอลบาสเวียร์ (Elbasvir) จัดเป็นยาใหม่ที่ผ่านการรับรองให้ใช้บำบัดรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-ซี (HCV) ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี พ.ศ.2559 ยานี้ถูกพัฒนาโดยบริษัท Merck ซึ่งเป็นบริษัทยาในแถบซีกโลกตะวันตกที่กำเนิดจากประเทศเยอรมันนี ยาเอลบาสเวียร์มีกลไกโดยออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลอง/สร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอ(RNA)ของเชื้อไวรัสตับอักเสบ-ซี (Hepatitis-C virus NS5A replication complex) ยาเอลบาสเวียร์ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ร่วมกับยา “Grazoprevir” โดยถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่ายา “Zepatier” ซึ่งเป็นยาชนิดรับประทาน

หลังจากยาเอลบาสเวียร์ถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 99.9% ตัวยาจะถูกทำลายที่ตับและส่วนมากจะถูกขับออกไปกับอุจจาระ โดยบางส่วนไปกับปัสสาวะ ยานี้จะออกฤทธิ์ได้นานประมาณ 24 ชั่วโมง ตัวยาจะชะลอการกระจายพันธุ์ของไวรัสตับอักเสบ-ซี ในสายพันธุ์ย่อยต่างๆหรือที่เรียกว่า Genotype 1a, 1b, และ 4 กรณีที่พบการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-ซี ที่มีความรุนแรงมาก แพทย์อาจสั่งจ่ายยาเพิ่มอีก1ตัว คือยา Ribavirin ร่วมในการรักษาด้วย

ผู้ป่วยต้องรับประทานยารักษาไวรัสตับอักเสบซีทุกตัวที่รวมยาเอลบาสเวียร์ ต่อเนื่องตรงเวลาในแต่ละวัน เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดมีความเข้มข้นสม่ำเสมอ มีความเหมาะสมต่อการรักษาตับอักเสบ-ซีมากที่สุด

ก่อนจะใช้ยาเอลบาสเวียร์ ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบข้อจำกัดต่างๆของการใช้ยานี้ อาทิเช่น

  • ระวัง/หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับชนิดอื่นๆ เช่น ผู้ที่รอการเปลี่ยน ถ่ายตับ หรือ ผู้มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บี
  • ระวังการใช้ยาเอลบาสเวียร์กับผู้ป่วยเอชไอวี/HIV
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อการใช้ยาเอลบาสเวียร์
  • ห้ามใช้ยาเอลบาสเวียร์กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ยาเอลบาสเวียร์สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาหลายตัว ผู้ป่วยจึงต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองใช้ยาอะไรอยู่ก่อนบ้าง เช่นยา Ritonavir, Efavirenz, Etravirine, Cobicistat, Maraviroc, Nafcillin, Carbamazepine, Phenytoin, Ketoconazole, Rifampin, Bosentan, Modafanil

ยาเอลบาสเวียร์ เป็นยาที่มีการสั่งจ่ายภายในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่สามารถพบเห็นการจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องเข้ามารับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ก่อนการรับยานี้กลับไปรับประทานเป็นระยะๆ

อนึ่ง หากมีข้อสงสัยการใช้ยาเอลบาสเวียร์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทย์ หรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

เอลบาสเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

เอลบาสเวียร์

เอลบาสเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตับอักเสบ-ซี ในร่างกาย

เอลบาสเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาเอลบาสเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอนเอของเชื้อไวรัสตับอักเสบ-ซี ทำให้ไวรัสนี้ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ ด้วยกลไกนี้ จึงทำให้ชะลออาการกำเริบของโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งผู้ป่วยจะกลับมาเป็นปกติภายในระยะเวลา 12 – 16 สัปดาห์ของการใช้ยานี้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของไวรัสตับอักเสบ-ซีและความรุนแรงของโรค โดยต้องใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างต่อเนื่อง

เอลบาสเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอลบาสเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาเม็ดชนิดรับประทานที่มีองค์ประกอบของยาต้านไวรัส 2 ตัว คือยา Grazoprevir 100 มิลลิกรัม + Elbasvir 50 มิลลิกรัม/เม็ด

เอลบาสเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ทางคลินิก จะใช้ยาเอลบาสเวียร์ร่วมกับยา Grazoprevir (ยาZepatier) ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-ซี และการติดเชื้อบางสายพันธุ์ย่อยของไวรัสตับอักเสบซี แพทย์อาจต้องใช้ยา Ribavirin ร่วมในการรักษาด้วย

สำหรับขนาดรับประทานในรูปแบบยาเม็ดร่วม Zepatier เป็นดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่18ปีขึ้นไป: รับประทานยาวันละ 1 เม็ด ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้เป็นเวลา 12 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง กรณีที่ต้องใช้ยา Ribavirin ร่วมในการรักษา อาจต้องรับประทานยานาน 12–16 สัปดาห์ โดยขึ้นกับสายพันธุ์ย่อย/ Genotype ของไวรัสตับอักเสบ-ซี อย่างเช่น Genotype 1a, 1b และ 4 เป็นต้น
  • ผู้อายุต่ำกว่า18ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่อง ตรงเวลา ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด
  • ห้ามมิให้ผู้ป่วยหยุดการรับประทานยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ระหว่างการใช้ยาหากพบอาการต่างๆ เหล่านี้ให้รีบด่วนมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด เช่น อาเจียน ปวดศีรษะมาก และอ่อนเพลีย
  • ไม่ต้องปรับขนาดรับประทานยานี้กับผู้ป่วยที่มี โรคตับ และ/หรือโรคไต ในระดับที่ไม่รุนแรง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาเอลบาสเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น ไวรัสตับอักเสบ-บี เคยเปลี่ยนถ่ายตับ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอลบาสเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาเอลบาสเวียร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าแต่การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง นอกจากจะทำให้อาการป่วยไม่ทุเลาลงแล้ว อาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้นด้วย

เอลบาสเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาเอลบาสเวียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ

มีข้อควรระวังการใช้เอลบาสเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอลบาสเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยน หรือเม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบภาวะตับอักเสบเกิดขึ้น หรือจากผลการตรวจเลือด แล้วพบว่าค่า บิลิรูบิน และ/หรือค่าเอนไซม์ตับในเลือด เช่น Alkaline phosphatase เพิ่มสูงขึ้น
  • มาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูสภาพการทำงานของตับ ตามระยะเวลาที่แพทย์นัดเสมอ เพื่อประเมินผลของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอลบาสเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

เอลบาสเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอลบาสเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอลบาสเวียร์ร่วมกับยา Acebutolol, Acetaminophen, Acetylsalicylic acid, Afatinib, Aldosterone, Alitretinoin, Ambrisentan, Amitriptyline, Apixaban, Arsenic trioxide, Atazanavir, Atenolol, Betamethasone, ด้วยยาเอลบาสเวียร์จะทำให้ระดับของยาดังกล่าวในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงต่างๆจากยาในกลุ่มดังกล่าวสูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาเอลบาสเวียร์ร่วมกับยา Efavirenz, Rifampin, Bosentan, ด้วยจะทำให้ระดับยาเอลบาสเวียร์ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลลดประสิทธิภาพของ การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ-ซี
  • ห้ามใช้ยาเอลบาสเวียร์ร่วมกับยา Cobicistat ด้วยจะทำให้ระดับความเข้มข้นของ ยาเอลบาสเวียร์ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาเอลบาสเวียร์สูงขึ้นตามมา
  • ห้ามใช้/หลีกเลี่ยงการใช้ยาเอลบาสเวียร์ร่วมกับยา Ketoconazole ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดพิษกับตับ/ตับอักเสบของผู้ป่วย

ควรเก็บรักษาเอลบาสเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บยาเอลบาสเวียร์ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงสว่าง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เอลบาสเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอลบาสเวียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Zepatier (เซพาเทียร์)Merck

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Elbasvir [2016,Dec24]
  2. http://www.mims.co.uk/elbasvir-grazoprevir-treating-chronic-hepatitis-c-ta413/infections-and-infestations/article/1413571 [2016,Dec24]
  3. http://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/z/zepatier/zepatier_pi.pdf [2016,Dec24]
  4. http://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/z/zepatier/zepatier_ppi.pdf [2016,Dec24]
  5. https://www.zepatier.com/ [2016,Dec24]
  6. http://www.nynjaetc.org/documents/ELBGRZHIV_and_HCV_Drug_Interaction_Quick_GuideMarch2016.pdf [2016,Dec24]
  7. http://www.catie.ca/en/treatmentupdate/treatmentupdate-208/hepatitis-c-virus/grazoprevir-elbasvir-and-other-emerging-drugs [2016,Dec24]
  8. https://www.drugbank.ca/drugs/DB11574 [2016,Dec24]