เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (NMDA receptor antagonist)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (NMDA receptor antagonist หรือ N-Methyl- D-aspartate receptor antagonist) จัดเป็นกลุ่มของยาสลบ ยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า N-Methyl-D-aspartate receptor(ตัวรับที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทที่กระตุ้นการทำงานของเซลล์สมอง)ในสมอง ยากลุ่มนี้ถูกนำไปใช้ทั้งกับมนุษย์และกับสัตว์ และเคยมีรายงานผลเสียของการใช้ยานี้ในสัตว์โดยจะทำให้สมองได้รับความเสียหาย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีผลเสียดังกล่าวเกิดขึ้นกับมนุษย์หรือไม่

 ยาในกลุ่มเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อาจแยกย่อยเป็นรายการยาได้มากมาย ดังนี้เช่น Agmatine, Alaproclate, Amantadine, Alpha-Aminoadipic acid, Apigenin, Aptiganel, Atomoxetine, Besonprodil, Bumetanide, Caroverine, 7-Chlorokynurenic acid, 4-Chlorokynurenine, Coronaridine, Delucemine, Dexanabinol, Dextrallorphan, Dextromethorphan, Dextrorphan, 5,7-Dichlorokynurenic acid, Diphenidine, Dizocil pine, Eliprodil, Alpha-Endopsychosin, Enflurane, Ephenidine, Esketamine, Flufenamic acid, Fluorolintane, Flupirtine, Furosemide, Gacyclidine, Gavestinel, Hodgkinsine, Huperzine A, Ibogaine, Ifenprodil, Indantadol, Inhalational anaesthetic Isoflurane, Ketamine, Ketobemidone, Ketofol, Kynurenic acid, Lanicemine, Levomethadone, Licostinel, Lubeluzole, Memantine, Metaphit, Methoxphenidine, Midafotel, Milnaci pran, Neramexane, Niflumic acid, Nitric oxide, Nitromemantine, Nitrous oxide, Norketamine, Nortilidine, Orphenadrine, Perzinfotel, Phencyclidine, Piretanide, Psychotridine, Racemorphan, Ralfinamide, Remacemide, Rhynchophylline, Sabelu zole, Selfotel, Tenocyclidine, Tiletamine, Traxoprodil, Traxoprodil

หากจะกล่าวถึงประโยชน์โดยรวมของยากลุ่มนี้ที่เด่นๆ ได้แก่

  • ใช้เป็นยาสงบประสาท ระงับอาการปวด/ยาแก้ปวด เช่น ผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้โดยสถานพยาบาลอาจใช้ยา Ketamine ในการระงับอาการปวด
  • ระงับอาการไอ/ยาแก้ไอเช่น ยา Dextromethorphan
  • ช่วยรักษาระดับความทรงจำหรือใช้บำบัดอาการโรคอัลไซเมอร์ เช่นยา Memantine
  • บำบัดอาการโรคสมาธิสั้น เช่นยา Atomoxetine
  • บำบัดอาการโรคซึมเศร้าโดยภาวะซึมเศร้าหลังได้รับการผ่าตัด เช่นยา Ketamine
  • ใช้บำบัดการติดยาเสพติด เช่นยา Ibogaine
  • บำบัดอาการของโรคลมชัก เช่นยา Eliprodil
  • รักษาอาการเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ เช่นยา Fluorolintane
  • รักษาและบำบัดโรคพาร์กินสัน เช่นยา  Amantadine

 ตัวยาที่พบเห็นการใช้อย่างโดดเด่นและเป็นที่นิยมของยากลุ่มนี้ได้แก่ ยา Ketamine, Dextromethorphan, Phencyclidine, Methoxetamine,  และ Nitrous oxide

กลไกการออกฤทธิ์โดยรวมของยากลุ่มนี้จะเกิดการเข้าจับกับตัวรับที่เรียกว่า NMDA receptor และมีการยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Glutamate ยาหลายตัวของหมวดนี้ถูกจัดเป็นยาควบคุมในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย ความจำเพาะเจาะ จงของยาแต่ละตัวจะเหมาะกับอาการโรคที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละโรค การใช้ยาแต่ละราย การจึงขึ้นอยู่กับแพทย์ที่ทำการรักษาเท่านั้น

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ใช้เป็นยาสลบในเด็กเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัวจึงทำให้ง่ายต่อการสอดท่อช่วยหายใจ
  • บรรเทาอาการหอบหืดในผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจตีบเรื้อรัง ระงับอาการไอ
  • ใช้เป็นยาช่วยในการผ่าตัดฉุกเฉิน
  • ใช้บรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวดหลังเข้ารับการผ่าตัดและช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีน
  • ใช้บำบัดอาการซึมเศร้าที่เกิดจากโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar depression) อาการจาก โรคสมาธิสั้น อาการของโรคลมชัก บำบัดโรคพาร์กินสัน บำบัดอาการโรคอัลไซเมอร์

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์เข้าจับกับตัวรับที่เรียกว่า NMDA receptor ส่งผลยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Glutamate การมี Gluamate สูงจะเกิดการกระตุ้นเซลล์สมองมากจนทำให้เกิดการตายของเซลล์ได้ และถึงแม้การมี Gluamate ในสมองต่ำจะลดอาการปวดได้ก็จริง แต่อาจจะก่อปัญหาเรื่องกระบวนการรับรู้ของสมองติดตามมา การใช้ยาที่เหมาะสมโดยแพทย์นอกจากจะส่งผลในการรักษาแล้วยังก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:      

  • ยาชนิดรับประทานทั้งชนิด เม็ด แคปซูล ยาน้ำ
  • ยาฉีด

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

 เนื่องจากยาในกลุ่มเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีหลากหลายรายการ ความเหมาะ สมของตัวยาแต่ละรายการกับกลุ่มโรคมีความแตกต่างกันออกไป และยังมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มต่างๆอีกมากมายที่ต่างกัน ดังนั้นการใช้ยากลุ่มนี้ได้อย่างปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น    

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยา แล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ตรงเวลา หากลืมรับประทานยานี้สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประ ทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • ฝันร้าย
  • รู้สึกสับสน
  • เกิดอาการประสาทหลอน
  • เกิดการกระตุ้นกล้ามเนื้อมากขึ้น/กล้ามเนื้อกระตุก
  • อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า
  • กดการหายใจ  
  • อาจพบอาการผื่นคันตามผิวหนัง
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • มีน้ำลายมาก
  • เห็นภาพซ้อน
  • หนังตากระตุก
  • ทางเดินหายใจตีบ/หายใจลำบาก
  • มีสารคัดหลั่งออกมาที่หลอดลม/มีเสมหะมากขึ้น
  • อาการปากคอแห้ง
  • เบื่ออาหาร
  • นอนไม่หลับ
  • อ่อนแรง
  • ปวดหัว
  • ไอ
  • ท้องผูก
  • วิงเวียน
  • สมรรถภาพทางเพศถดถอย
  • ปวดท้อง
  • ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ประจำเดือนผิดปกติ (ในผู้หญิง)
  • น้ำหนักตัวลด
  • ซึมเศร้า
  • อารมณ์แปรปรวน
  • บางคนอาจเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตาย
  • ก้าวร้าวขึ้น
  • ตัวสั่น
  • ปวดศีรษะไมเกรน
  • ชัก
  • ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ตรวจเลือดพบการทำงานของตับผิดปกติ
  • ตับอักเสบ
  • ดีซ่าน
  • ปัสสาวะขัด  

มีข้อควรระวังการใช้เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ห้ามใช้ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOIs)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน (Narrow angle glaucoma)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)และผู้สูงอายุ
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง) ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือเกิดภาวะแพ้ยา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาอะโทม็อกซีทีน (Atomoxetine) ร่วมกับยา Diphenhydramine อาจทำให้ปริมาณของยาอะโทม็อกซีทีนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงติดตามมาเช่น วิงเวียน ปากคอแห้ง เบื่ออาหาร  นอนไม่หลับ เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาเคตามีน (Ketamine) ร่วมกับยา Propoxyphene, Hydroxyzine, Bromphenira mine, Chlorpheniramine, Pyrilamine, Midazolam, Alprazolam จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยาเคตามีนเพิ่มมากขึ้นเช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน ขาดสมาธิ เพื่อป้องกันอาการข้าง เคียงดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ร่วมกับยาต้านเศร้าบางชนิดอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin Syndrome) โดยมีอาการหัวใจเต้นเร็วเหงื่อออกมาก รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ และมีความดันโลหิตสูง เป็นต้น กลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้าดังกล่าว เช่นยา Isocarboxazid และ Phenelzine

ควรเก็บรักษาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเอนเอ็มดีเอ รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Calypsol (คาลิปซอล) Gedeon Richter
Ketalar (เคตาลาร์) Pfizer
Ketamine-p (เคตามีน-พี) PP Lab3
ATTENTROL (แอทเทนทรอล) Sun
ATTERA (แอทเทอรา) Mesmer
AXEPTA (เอ็กเซฟตา) Intas
Strattera (สแตรทเทรา) Eli Lilly
ANTUSSIA (แอนทัสเซีย) Asian Pharm
ANTUST TABLET (แอนทัส แทบเบล็ท) Medicine Products
A-TUSSIN (เอ-ทัสซิน) Osoth Interlab
CHLORHIST COUGH (คลอฮีส ค็อก) Sriprasit Pharma
COMFY (คอมไฟ) Polipharm
ROCAL (โรคอล) ANB
ROMILAR (โรมิลาร์) Bayer

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/NMDA_receptor_antagonist   [2022,Feb12]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Category:NMDA_receptor_antagonists  [2022,Feb12]
  3. https://www.rxlist.com/nmda_antagonists/drug-class.htm   [2022,Feb12]
  4. https://www.psychiatrictimes.com/view/ketamine-and-nmda-receptor-antagonists-depression  [2022,Feb12]
  5. https://www.singlecare.com/blog/nmda-receptor-antagonists  [2022,Feb12]