เอดส์จากเอชไอวี ชีวิตรอวันตาย (ตอนที่ 4)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวันก่อน สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พะเยา เปิดเผยว่า ในงานสัมนาวิชาการเกี่ยวกับการทำงานเรื่องเอดส์ มีการจัดกิจกรรมนิทรรศการให้ความรู้ กิจกรรมหนุนเสริมการสอนผู้ปกครองในเรื่องเพศศึกษา การตรวจเลือด และการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะเมื่อประชาชนลดความระมัดระวังในการป้องกันและกรณีการแต่งงานใหม่แต่ไม่ยอมบอกผลเลือดให้คู่ครองทราบ

นอกเหนือจากกลุ่มวัยรุ่นแล้ว เชื้อเอชไอวี ยังติดต่อได้อีก 2 ทาง กล่าวคือ (1) การรับเลือดและองค์ประกอบของเลือด การปลูกถ่ายอวัยวะรวมทั้งไขกระดูก และน้ำอสุจิที่ใช้ผสมเทียมแต่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปัญหานี้ได้ลดลงไปจนเกือบหมด เพราะมีการตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีในบรรดาผู้บริจาคเลือด รวมทั้งการคัดเลือกกลุ่มผู้บริจาคซึ่งไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อาทิการไม่รับบริจาคเลือดจากผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าหลอดเลือด

(2) การติดต่อจากมารดาสู่ทารก โดยทารกมีโอกาสรับเชื้อได้ในระยะต่างๆกัน อาทิ ระยะเชื้อแพร่มาตามสายสะดือสู่ทารกในครรภ์ ระยะติดเชื้อขณะคลอดจากเลือดและเมือกในช่องคลอด และระยะติดเชื้อระหว่างเลี้ยงดูโดยได้รับเชื้อจากน้ำนมแม่ ซึ่งวิธีการติดต่อเหล่านี้คล้ายกับไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ดังนั้น หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ก็จะไม่เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อีกด้วย

ส่วนการใช้ถุงยางอนามัย ไม่ว่าจะเป็นชนิดสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นหนทางเดียวที่สามารถลดโอกาสในการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ และการตั้งครรภ์ได้ ในปัจจุบันนี้มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าถุงยางอนามัยสามารถลดการติดเชื้อเอชไอวีจากเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงได้ประมาณ 80%

ถุงยางอนามัยสำหรับเพศชายที่ทำจากลาเท็กซ์ (= Latex หรือ น้ำยางสังเคราะห์) นั้น หากใช้อย่างถูกต้องโดยปราศจากสารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมแล้ว จะได้ประสิทธิผลดีที่สุดในการลดการติดเชื้อเอชไอวีได้ ตามปรกติ สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมัน (อาทิ เจลปิโตรเลียม เนย หรือน้ำมันสัตว์) จะทำให้ลาเท็กซ์ละลาย จนถุงยางอนามัยเกิดรูรั่ว ดังนั้น ถ้าจำเป็นจริงๆ ควรใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบหลักเป็นน้ำจะดีกว่า อย่างไรก็ตาม สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมสามารถใช้กับถุงยางอนามัยที่ทำจาก Polyurethane (ซึ่งเป็นสารประกอบน้ำหนักเบาคล้ายฟองน้ำ) ได้

การศึกษาแบบทดลองสุ่มควบคุม (Randomized controlled trial: RCT) หลายครั้ง แสดงผลว่าการขริบหนังหุ้มปลายองคชาต (Circumcision) ของผู้ชาย ช่วยลดอัตราเสี่ยงการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์แบบชายและหญิง (Heterosexuals) ได้สูงสุด 60% ดังนั้น การขริบดังกล่าว น่าจะได้รับการแนะนำให้ทำกันแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลรุนแรงจากเอชไอวี แต่อาจจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในทางปฏิบัติที่มีวัฒนธรรมและทัศนคติมาเกี่ยวข้อง

[จากการศึกษาแบบ RCT] โครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะการแจกฟรีให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยนั้น เชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีในประเทศอัฟริกาได้มากกว่าการขลิบถึง 95 เท่า อย่างไรก็ตามการศึกษาแบบ RCT อีกชิ้นหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการขริบในชายวัยผู้ใหญ่ไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศแต่อย่างใด

เพศสัมพันธ์ทางปาก (Oral sex) ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ เพราะในน้ำลายเองก็อาจมีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ แต่เมื่อเทียบกับโอกาสติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ตามปรกติแล้ว ก็นับว่า เพศสัมพันธ์ทางปาก มีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า เนื่องจากในน้ำลายเองมีสารฆ่าเชื้อ และหากไม่มีแผลในช่องปาก เชื้อไวรัสก็ไม่อาจเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปสู่ร่างกายได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยา ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์ทางปากเพื่อลดวามเสี่ยงต่อการติดโรคเอดส์

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.ยันเอดส์พะเยาลดแล้ว - แต่ปัญหาสาธารณสุขและสังคมโผล่แทน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000005333 [2012, January 20].
  2. เอดส์ http://th.wikipedia.org/wiki/เอดส์ [2012, January 20].