เอดส์จากเอชไอวี ชีวิตรอวันตาย (ตอนที่ 3)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวันซืน การสัมมนาทางวิชาการที่จังหวัดพะเยาได้สรุปทบทวนบทเรียนเรื่องเครือข่ายการเรียนรู้ และร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนและเยาวชน โดยเฉพาะในช่วงอายุ 12 – 17 ปี ให้ตระหนักเรื่องโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ในก่อนวัยอันควร การมีเพศสัมพันธ์ฉาบฉวย และการตั้งท้องไม่พึงประสงค์ในกลุ่มวัยรุ่น

เอดส์เกิดจากเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มที่มีระยะแฝง (Window period) นานในกระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบประสาท และภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้ออ่อนแอลง เชื้อเอชไอวีจะจับกับเซลล์ของเม็ดเลือดขาวที่ชื่อ CD4 (=Cluster of differentiation 4) แล้วฝังตัวเข้าไปภายในร่างกาย และจะเพิ่มจำนวนโดยแทรกเข้าไปในสาย DNA (= Deoxyribonucleic acid หรือกรดในนิวเคลียสของเซลล์ที่สร้างโปรตีนและถ่ายทอดลักษณะพันธุกรรม) ของผู้ติดเชื้อตลอดชีวิต

ภายหลังการได้รับเชื้อ ร่างกายต้องใช้เวลาในการสร้างปฏิกิริยาตอบสนองต่อเชื้อ โดยทั่วไป การวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอดส์หรือไม่ มิได้จากการตรวจหาเชื้อโดยตรง แต่เป็นการตรวจหาสารภูมิต้านทานเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV antibody) ซึ่งอาจให้ผลลบ [แปลว่าไม่ติดเชื้อ] ในกรณีที่ได้รับเชื้อมาใหม่ๆ เนื่องจากร่างกายยังไม่ได้สร้างปฏิกิริยาตอบสนอง

ผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ เลยภายหลังการรับเชื้อ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายการติดเชื้อไวรัสธรรมดา อาทิ มีไข้ ฝ้าในปาก ผื่นคันตามตัว น้ำหนักลด ต่อมน้ำเหลืองโต และเจ็บคอ แต่อาการเหล่านี้มักกินเวลาเพียงสั้นๆ แล้วหายไปได้เอง แต่ในที่สุดเชื้อไวรัสจะส่งผลให้ระดับ CD4 ลดลงอย่างช้าๆ จนต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อไมโครลิตร (cell/mm3) ผู้ป่วยก็จะเริ่มเกิดอาการเอชไอวีขึ้น

ตามสถิติ เวลา 7 – 10 ปี คืออัตราเฉลี่ยในประเทศไทยตั้งแต่รับเชื้อจนเริ่มป่วย แต่ในช่วงที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกาย อาจไม่ป่วยเพราะยังมีภูมิคุ้มกันควบคุมอยู่หรือสามารถจัดการกับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ ถือว่า “เป็นผู้ติดเชื้อ” แต่ถ้าภูมิคุ้มกันถูกทำลายเหลือจำนวนน้อยจนไม่สามารถควบคุมหรือจัดการกับเชื้อโรคบางอย่างได้ เริ่มมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ถือว่า “เป็นผู้ป่วยเอดส์” เกิดอาการของโรคติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection) แทรกซ้อนในที่สุด

เชื้อไวรัสเอชไอวีพบในเลือดและในสารคัดหลั่งหรือในเนื้อเยื่อของร่างกาย ได้แก่ น้ำอสุจิ เมือกในช่องคลอดสตรี น้ำลาย และอาจพบได้ในน้ำตาและปัสสาวะ แต่ในปริมาณน้อย เชื้อไวรัสเอชไอวีมักติดต่อในหมู่วัยรุ่นผ่าน 2 วิธีคือ (1) การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศเดียวกัน และกับเพศตรงข้าม และ (2) การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาเสพติดร่วมกัน และของมีคมที่สัมผัสเลือด

ตามสถิติโลก การติดต่อของเชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่ เป็นการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิง โดยการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันระหว่างคู่นอนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดเชื้อเอชไอวี ส่วนเชื้อฉวยโอกาสที่ตรวจพบในผู้ป่วยเอดส์มากที่สุด ได้แก่ เชื้อ Mycobacterium tuberculosis ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดวัณโรค

ในทางปฏิบัติ การป้องกันที่ได้ผลที่สุดซึ่งจะลดพฤติกรรมเสี่ยงได้คือการให้การศึกษาแก่ประชาชน มีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงบวกของการศึกษาและการอ่านออกเขียนได้ กับพฤติกรรมทางเพศที่ระมัดระวังมากขึ้น ลำพังการศึกษาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล แต่จะช่วยนำไปสู่การมีความรู้ทางสุขภาพ และความคิดอ่านทั่วไปที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในผลกระทบจากพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเอง ต่อจากการติดเชื้อเอชไอวีได้

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.ยันเอดส์พะเยาลดแล้ว - แต่ปัญหาสาธารณสุขและสังคมโผล่แทน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000005333 [2012, January 18].
  2. เอดส์ http://th.wikipedia.org/wiki/เอดส์ [2012, January 18].