เอดส์จากเอชไอวี ชีวิตรอวันตาย (ตอนที่ 1)

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แพทย์หญิง อารีย์ ตันบรรจง สาธารณสุขจังหวัดพะเยา เปิดเผยถึงการสัมมนาทางวิชาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในเรื่องโรคเอดส์ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมพะเยาเกทเวย์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเอดส์จากประเทศญี่ปุ่น มาร่วมสังเกตการณ์ และมีเจ้าหน้าที่องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 200 คนเข้าร่วมสัมนาด้วย โดยหารือกันในหัวข้อต่างๆ สำหรับการพัฒนาบริการด้านการดูแลต่อผู้ติดเชื้อในระดับอำเภอและระดับตำบล

คำว่า เอดส์ มาจากภาษาอังกฤษว่า AIDS ซึ่งย่อมาจาก 4 คำดังต่อไปนี้ : A = Acquired หมายถึง เกิดขึ้นภายหลัง มิได้เป็นกรรมพันธุ์มาแต่กำเนิด; I = Immune หมายถึง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย; D = Deficiency หมายถึง ความบกพร่อง; และ S = Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการ

แปลรวมกันว่า “กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง” เป็นกลุ่มอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human immunodeficiency virus : HIV) เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แล้วไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องลง เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการเกิดเนื้องอกบางชนิด ได้ง่ายกว่าคนปกติ อาการมักจะรุนแรง ยืดเยื้อเรื้อรัง และถึงแก่ความตายในที่สุด

โดยปรกติแล้ว เชื้อไวรัสเอชไอวีติดต่อผ่านการสัมผัสของเยื่อเมือกหรือสารคัดหลั่งซึ่งมีเชื้อ อาทิ เลือด น้ำอสุจิ น้ำหล่อลื่นช่องคลอด น้ำหลั่งก่อนการหลั่งอสุจิ และนมมารดา อาจติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจเป็นทางช่องคลอด หรือทวารหนัก หรือช่องปาก นอกจากนี้ยังติดต่อผ่านการรับเลือดที่ไม่บริสุทธ์หรือการใช้เข็มฉีดยาที่ปนเปื้อน และการติดต่อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ ระหว่างคลอดลูกหรือให้นมลูก รวมทั้งการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ ดังกล่าว

องค์การ UNAIDS (= Joint United Nations Program on HIV/AIDS) ประมาณการไว้เมื่อปี พ.ศ. 2550 ว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยเอดส์ 33.2 ล้านคน โดยที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 2.1 ล้านคน เป็นเด็ก 330,000 คน และ 76% ของผู้เสียชีวิตเป็นชาวอัฟริกาเขตใต้ทะเลยทรายซาฮารา

รายงานปี พ.ศ. 2552 ของ UNAIDS ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกแล้ว 60 ล้านคน และเสียชีวิตไปแล้ว 25 ล้านคน เฉพาะในทวีปอัฟริกาใต้ที่เดียว มีเด็กที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ 14 ล้านคน นับตั้งแต่เอดส์เริ่มระบาดไปทั่วโลก

การศึกษาวิจัยทางพันธุศาสตร์แสดงว่า เชื้อไวรัสเอชไอวีมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอัฟริกากลางตะวันตกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 แต่การค้นพบสาเหตุของโรคและเชื้อไวรัสเอชไอวีนั้น เกิดขึ้นช่วงต้น คริสต์ทศวรรษที่ 1980 (ในราวพ.ศ. 2523) และโรคเอดส์เป็นที่รู้จักครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control : CDC) ในปี พ.ศ. 2524

ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีสามารถชะลอการลุกลามรุนแรงของโรคได้ แต่ยังไม่พบวิธีการรักษาให้หายขาด และยังไม่มีวัคซีนใดๆ ป้องกันได้ มีเพียงยาต้านไวรัส ซึ่งสามารถลดอัตราการตายและภาวะทุพพลภาพได้ แต่ยาเหล่านี้ยังมีราคาแพงมาก จนผู้ป่วยในบางประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้

เนื่องจากองค์กรดูแลสุขภาพต่างๆ เล็งเห็นว่า การรักษาเอดส์ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก จึงให้ความสำคัญกับการควบคุมการระบาดของโรคเอดส์ด้วยการรณรงค์มาตรการต่างๆ ในการป้องกันการติดเชื้อ ผ่านการสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาที่ใช้แล้ว เพื่อลดการใช้ซ้ำ อันเป็นสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

แหล่งข้อมูล:

  1. สสจ.ยันเอดส์พะเยาลดแล้ว - แต่ปัญหาสาธารณสุขและสังคมโผล่แทน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000005333 [2012, January 18].
  2. เอดส์ http://th.wikipedia.org/wiki/เอดส์ [2012, January 18].