เหนือ “อีโบลา” ยังมี “มาร์บวร์ก” (ตอนที่ 1)

มาร์บวร์ก

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษาสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ขณะนี้ยังคงระบาดหนักใน 3 ประเทศของแอฟริกาตะวันตก คือ ไลบีเรีย กินี และเซียร์ราลีโอน และเริ่มระบาดออกนอกพื้นที่ เช่น ไนจีเรีย เซเนกัล สหรัฐอเมริกา และสเปน

โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อ 8,914 คน เสียชีวิตแล้ว 4,447 คน และที่สำคัญคือ ประเทศที่กำลังมีการระบาดกำลังย่างเข้าสู่หน้าหนาว ซึ่งคาดว่าจะมีผลต่อการระบาด แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีผลมากน้อยแค่ไหน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า นอกจากอีโบลาแล้ว โรคที่ต้องเฝ้าระวังคือ โรคมาร์บวร์กที่กำลังระบาดในแถบอูกันดาด้วย โดยโรคดังกล่าวถือเป็นโรคไข้เลือดออกที่มีต้นเชื้อมาจากลิงและค้างคาว มีระยะฟักตัว การติดต่อ กลุ่มอาการคล้ายกับอีโบลา แต่รุนแรงกว่า โดยมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 40 - 90 ซึ่งถือว่าเป็นพี่ใหญ่ของโรคติดเชื้ออีโบลา เพราะพบว่ามีการระบาดมาตั้งแต่ปี 2518 ก่อนจะพบการระบาดของอีโบลา 1 ปี

โรคมาร์บวร์ก (Marburg virus disease = MVD หรือที่รู้จักในนาม Marburg haemorrhagic fever = MHF) เป็นไข้เลือดออกชนิดหนึ่ง ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2510 ที่เมืองมาร์บวร์กและเมืองแฟรงก์เฟิร์ตของประเทศเยอรมัน และที่เมืองเบลเกรดของประเทศเซอร์เบีย โดยเกิดจากการนำลิงที่มีเชื้อมาจากประเทศยูกันดา

โรคมาร์บวร์กเกิดจากเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงในกลุ่มเดียวกับอีโบลา เป็นโรคที่ไม่ค่อยพบ จนในปี พ.ศ.2518 จึงมีการพบอีกครั้งจากมีคนเดินทางไปประเทศซิมบับเวแล้วติดเชื้อ และมีการพบเป็นระยะๆ ในแถบประเทศเคนย่า

การติดเชื้อมาร์บวร์กจากสัตว์มาสู่คนนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับลิงที่มีเชื้อ หรือจากของเหลวของลิงหรือค้างคาว เช่น เลือด อุจจาระ ปัสสาวะ หรือจากการเพาะเซลล์ (Cell cultures)

แต่สำหรับการติดเชื้อจากคนมาสู่คนนั้นเกิดจากการสัมผัสกันโดยตรง การจับเครื่องมือหรือวัตถุที่มีเชื้อ โดยเฉพาะในโรงพยาบาล เป็นการติดเชื้อจากละอองของเหลวของร่างกาย เช่น ละอองเสมหะ เลือด หรือเนื้อเยื่อ

โรคมาร์บวร์กเป็นโรคที่พบได้ยากในมนุษย์ อย่างไรก็ดี หากเกิดขึ้นก็มีโอกาสติดต่อกันได้ง่าย

มาร์บวร์กมีระยะเวลาฟักตัว 5-10 วัน อาการเริ่มต้นทันทีทันใดด้วยการ

  • เป็นไข้
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ปวดข้อและกล้ามเนื้อ (Myalgia)
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย

แหล่งข้อมูล

  1. ผู้เชี่ยวชาญไวรัสแนะเฝ้าระวัง “โรคมาร์บวร์ก” ชี้อันตรายกว่าอีโบลา http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9570000119328 [2014, November 8].
  2. Marburg. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ebola-virus/basics/definition/con-20031241 [2014, November 8].
  3. Marburg virus disease. http://www.who.int/csr/disease/marburg/en/ [2014, November 8].
  4. Marburg Hemorrhagic Fever: Fact Sheet. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/marburg-hemorrhagic-fever [2014, November 8].