เส้นเลือดทำไมต้องขอด (ตอนที่ 5)

เส้นเลือดทำไมต้องขอด-5

      

      สำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ทำได้ด้วยการตรวจร่างกาย ดูอาการบวมที่ขาขณะยืน หรือสอบถามถึงอาการปวดขา นอกจากนี้แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้การอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าลิ้นของหลอดเลือดทำงานได้ปกติหรือมีการเกิดลิ่มเลือดหรือไม่ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น

  • Doppler test: เป็นการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจถึงทิศทางการไหลของเลือด และดูว่ามีอะไรอุดตันในหลอดเลือดหรือไม่
  • Color duplex ultrasound scan: เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ที่ให้ภาพของหลอดเลือดเป็นสี ซึ่งช่วยให้แพทย์ระบุถึงความผิดปกติได้ ทั้งยังใช้วัดความเร็วในการไหลของเลือด

      ผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอดและไม่แสดงอาการรบกวนแต่อย่างไร ก็อาจดูแลตัวเองตามวิธีการป้องกันดังกล่าวข้างต้น แต่กรณีที่มีอาการปวด รู้สึกไม่สบาย มีอาการแทรกซ้อน การรักษามักให้ใส่ถุงน่องทางการแพทย์ (Compression stockings) เพื่อทำให้หลอดเลือดและกล้ามเนื้อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

      ส่วนการรักษาอย่างอื่นที่ใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ได้แก่

  • การฉีดสารเคมีเพื่อให้หลอดเลือดหดตัวลง (Sclerotherapy) โดยสารนี้จะไปทำให้ผนังหลอดเลือดระคายเคือง บวม และสุดท้ายหลอดเลือดหดตัวลงติดกันกลายเป็นแผล (Scar tissue) โดยสารที่ใช้ ได้แก่ Hypertonic saline, Sodium tetradecyl sulfate และPolidocanol ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการฉีดมากกว่า 1 ครั้ง โดยการรักษาวิธีนี้ใช้ได้ผลดีในกรณีที่เส้นผ่าศูนย์กลางของหลอดเลือดมีขนาดไม่เกิน 15 มิลลิเมตร

      ทั้งนี้ การรักษาวิธีนี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง คือ ผิวคล้ำบริเวณที่ถูกฉีด (Hyperpigmentation) ซึ่งมักจะหายไปภายใน 6 เดือน

      และไม่ควรใช้วิธีนี้รักษาในผู้ที่เดินไม่ได้ (Non-ambulatory) ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดลึก ผู้ที่แพ้สารที่ฉีด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีหลอดเลือดแดงอุดตัน arterial obstruction

  • การฉีดโฟมเข้าเส้นเลือดขอด (Foam sclerotherapy) ที่ใช้กับเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่
  • การยิงเลเซอร์ (Laser surgeries) ซึ่งเป็นการรักษาเส้นเลือดขอดขนาดเล็กและเส้นเลือดฝอย ด้วยการยิงลำแสงไปยังเส้นเลือดเพื่อให้หาย แต่ไม่ต้องมีการผ่าตัดหรือใช้เข็ม
  • การใส่สายสวนเข้าในเส้นเลือดที่บวมแล้วใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุ (Radiofrequency) หรือแสงเลเซอร์ (Laser energy) ทำลายเส้นเลือดขอด ซึ่งกรณีนี้มักใช้กับเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่
  • การผ่าตัดลอกเอาเส้นเลือดขอดออก (High ligation and vein stripping)
  • การเจาะเอาเส้นเลือดขอดที่ตื้นๆ ออก (Ambulatory phlebectomy)
  • การผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic vein surgery)

      อย่างไรก็ดีเส้นเลือดขอดที่รักษาแล้ว ก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (Recurrence) ซึ่งเป็นไปตามอายุที่มากขึ้น โดยอาจเกิดในบริเวณเดิมหรือที่ใหม่ก็ได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Varicose veins.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/varicose-veins/symptoms-causes/syc-20350643 [2018, February 22].
  2. What can I do about varicose veins? https://www.medicalnewstoday.com/articles/240129.php [2018, February 22].
  3. Varicose Veins and Spider Veins. https://www.medicinenet.com/varicose_veins/article.htm [2018, February 22].