เสี่ยงไหมกับเมลาโทนิน (ตอนที่ 3)

เสี่ยงไหมกับเมลาโทนิน-3

เมลาโทนินที่ร่างกายสร้างจะมีปริมาณลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น โดยคนแก่บางคนอาจจะมีปริมาณเมลาโทนินที่น้อยมากหรือไม่มีเลย

เราสามารถพบเมลาโทนินได้น้อยจากอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ธัญพืช ผลไม้ และผัก ดังนั้น จึงมีการผลิตเมลาโทนินขึ้นเป็นอาหารเสริม (Melatonin supplements) เพื่อรักษาอาการเจ็ทแลค (Jet lag) หรืออาการนอนไม่หลับ (Insomnia)

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เมลาโทนินในการรักษา

  • ความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดู (Seasonal affective disorder = SAD)
  • ช่วยควบคุมการนอนของผู้ที่ต้องทำงานเป็นกะ
  • ป้องกันหรือลดปัญหาเรื่องการนอนและการเกิดความสับสนงุนงงหลังการผ่าตัด
  • ลดอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์เรื้อรัง (Chronic cluster headaches)
  • เข้านอนเมื่อผ่านเวลานอนไปแล้ว (Delayed sleep phase syndrome = DSPS)
  • ความผิดปกติของพฤติกรรมการนอนหลับในช่วงหลับฝัน (Rapid eye movement sleep behavior disorder = RBD)
  • อาการนอนไม่หลับที่สัมพันธ์กับยาลดความดันที่เรียกว่า เบต้า บล็อกเกอร์ (Beta-blockers)
  • อาการนอนไม่หลับในเด็กที่มีพัฒนาการผิดปกติ เช่น เป็นโรคออทิซึม (Autism) โรคสมองพิการ (Cerebral palsy)
  • อาการนอนไม่หลับที่เป็นผลของการเลิกบุหรี่
  • อาการนอนไม่หลับที่สัมพันธ์กับโรคต่างๆ เช่น โรคสมาธิสั้น (Attention deficit-hyperactivity disorder = ADHD) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) โรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) เป็นต้น
  • อาการหมดประจำเดือน (Menopause)
  • ป้องกันผิวหนังจากการถูกแดดเผา (Sunburn)
  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพื่อรักษาโรคมะเร็ง

[ปวดศีรษะคลัสเตอร์ (Cluster headaches) คือ อาการปวดศีรษะชนิดไม่ร้ายแรงแบบหนึ่ง มีลักษณะสำคัญคือ จะมีอาการปวดศีรษะเป็นชุดๆ (Cluster) แต่ละครั้งนานประมาณ 1 ชั่ว โมง เป็นเวลาเดิมๆ ของทุกวัน และเป็นติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาการปวดศีรษะจะปวดตุ๊บๆ บริเวณขมับ เบ้าตา ด้านใดด้านหนึ่ง ความรุนแรงจะรุนแรงมากๆ จนทรมานหรือต้องหยุดทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ร่วมกับมีอาการน้ำตาไหล น้ำมูกไหล ลืมตาลำบาก กระสับกระส่าย]

สำหรับปริมาณที่เหมาะสมในการกินเมลาโทนินนั้นจะไม่เท่ากันในแต่ละคน บางคนอาจไวต่อความรู้สึก (Sensitive) และเกิดผลข้างเคียงได้เร็วกว่าคนอื่นเมื่อได้รับในปริมาณที่เท่ากัน ในเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงเมลาโทนินยกเว้นกรณีที่แพทย์สั่ง

แหล่งข้อมูล:

  1. MELATONIN. https://www.webmd.com/vitamins-supplements/ingredientmono-940-melatonin.aspx?activeingredientid=940 [2017, October 31].
  2. Melatonin - Overview. https://www.webmd.com/sleep-disorders/tc/melatonin-overview#1 [2017, October 31].
  3. Melatonin Overdose. https://www.healthline.com/health/melatonin-overdose#overview1 [2017, October 31].