เสี่ยงไหมกับเมลาโทนิน (ตอนที่ 1)

เสี่ยงไหมกับเมลาโทนิน-1

เมลาโทนินถูกค้นพบในปี พ.ศ.2501 ว่า เป็นฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นเองเพื่อช่วยในการจัดระเบียบนาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm) โดยมีแสงเป็นตัวควบคุม เมื่อแสงอาทิตย์ลับไป ระดับเมลาโทนินจะเริ่มสูงขึ้นก่อนนอน 2 ชั่วโมง ทำให้เราเริ่มรู้สึกง่วง และเมื่อแสงเริ่มสว่างอีกครั้งในตอนเช้า ก็จะเป็นสัญญาณให้สมองหยุดการผลิตเมลาโทนิน และเราเริ่มตื่นตัว

Nutrition Business Journal ได้เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2560 ผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ใช้จ่ายเงินซื้ออาหารเสริมเมลาโทนินมากกว่า 437 ล้านดอลลาร์ เพราะเชื่อว่า เมลาโทนินจะช่วยทำให้การนอนหลับดีขึ้น และมีแนวโน้มว่าตัวเลขยอดซื้อนี้จะสูงขึ้นอีก

ดร. Michael Breus นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องความผิดปกติด้านการนอน (Sleep disorder) ได้กล่าวว่า เมลาโทนินเป็นตัวควบคุมการนอน (Sleep regulator) แต่ไม่ใช่สาเหตุตั้งต้นของการนอน (Sleep initiator)

และ ดร. Michael Breus ได้กล่าววถึงกรณีของอาการเจ็ทแลค (Jet lag) ว่า เขาจะแนะนำให้กินเมลาโทนิน 0.5 มิลลิกรัม ล่วงหน้า 90 นาทีก่อนถึงเวลาเข้านอนของสถานที่เป้าหมาย

แม้ว่าอาหารเสริมหลายชนิดจะโฆษณาว่า เมลาโทนินที่ผลิตในห้องแล้ปจะเป็นตัวช่วยให้นอนหลับ แต่ก็ช่วยได้กับบางคนเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคน

มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า คนที่กินเมลาโทนินก่อนนอนโดยเฉลี่ยจะรู้สึกง่วงเร็วกว่าปกติ 3.9 นาที และหลับได้นานกว่าปกติ 13 นาที ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่า คนที่กินเมลาโทนินก่อนนอนโดยเฉลี่ยจะรู้สึกง่วงเร็วกว่าปกติ 7 นาที และหลับได้นานกว่าปกติ 8 นาที

อย่างไรก็ดี จากงานวิจัยก็พบว่า เมลาโทนินนั้นมีข้อจำกัด และหากใช้ผิดอาจทำให้เกิดโทษได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ Dr. Alfred Lewy แห่ง Oregon Health & Science University ผู้บุกเบิกในการทำวิจัยเกี่ยวกับเมลาโทนิน ได้กล่าวว่า เขาพบว่าเมลาโทนินในปริมาณที่มาก (3 mg) สามารถช่วยทำให้หลับได้ แต่ได้ผลแค่ 1 ใน 3 ของคนที่ใช้เท่านั้น

นักวิจัยเชื่อว่า เมลาโทนินสามารถทำให้เกิดผลอย่างมากต่อการรักษาความผิดปกติของนาฬิกาชีวภาพ เช่น พวกนอนดึกมาก พวกตื่นเช้ามาก หรือพวกที่ทำงานเป็นกะ ซึ่งเป็นผลจากการที่ร่างกายสร้างเมลาโทนินช้าหรือเร็วเกินไป จนทำให้เกิดความสับสนกับเวลานอน

โดยงานวิจัยของ Dr. Alfred Lewy แนะนำให้ผู้ป่วยกินเมลาโทนินวันละ 0.3 มิลลิกรัม ในช่วงบ่ายแก่ เพื่อลดอาการหดหู่ซึมเศร้าในฤดูหนาวที่เวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน อย่างไรก็ดี เวลาในการกินเมลาโทนินก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะหากกินในเวลาที่ผิด นาฬิกาชีวภาพก็จะทำให้ร่างกายเกิดปัญหาได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Melatonin Benefits, Risks: What You Need to Know. https://www.webmd.com/sleep-disorders/news/20171004/is-natural-sleep-aid-melatonin-safe [2017, October 29].