เสี่ยงติดเอดส์ เหตุไม่ใช้ถุงยาง

สาธารณสุขเชียงใหม่ ชี้กลุ่มเยาวชน (โดยเฉพาะกลุ่มชายรักชาย) เสี่ยงเป็นเอดส์พุ่งขึ้น สาเหตุเพราะไม่นิยมใช้ถุงยางเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เตือนตัวเลขสถิติผู้ป่วยมาจากเฉพาะกลุ่มที่สมัครใจเจาะเลือดตรวจ แต่กลุ่มที่ยังไม่รู้ ยังมีอีกมาก แนะกลุ่มเสี่ยงต้องรีบตรวจ หากพบติดเชื้อต้องรับยาต้านไวรัสเอดส์ต่อเนื่องและดูแลสุขภาพก็จะอายุยืนได้ ด้านสถาบันพลศึกษา ได้ติดกล่องบริการถุงยางในสถาบันรับวันเอดส์โลก (1 ธ.ค.54 ที่ผ่านมา) ผู้บริหารเผยไม่ได้สนับสนุนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ แต่สร้างทางเลือกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และ/หรือ ติดเอดส์

ถุงยาง (Condom ) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “ถุงยางอนามัย” เป็นเครื่องป้องกันที่ใช้กันแพร่หลายระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดโอกาสของการตั้งครรภ์ และการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อผ่านเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases: STDs) อาทิ หนองใน (Gonorrhea) ซิฟิลิส (Syphilis) และเอชไอวี (HIV)

วิธีใช้ ให้สวมบนองคชาติของผู้ชายที่แข็งตัวอยู่ ซึ่งจะขัดขวางการหลั่งน้ำอสุจิขณะสอดอยู่ในช่องคลอด เนื่องจากถุงยางอนามัยป้องกันการไหลซึมของน้ำได้ ยืดหยุ่นได้ และทนทาน จึงสามารถใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อาทิ การเก็บเชื้ออสุจิเพื่อการบำบัดในกรณีที่ทำหมัน และกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ อาทิ การครอบไมโครโฟนไม่ให้เปียกน้ำ และการป้องกันการติดขัดของลำกล้องปืนไรเฟิล

ในสมัยปัจจุบัน ถุงยางอนามัยมักทำจากน้ำยางขาวจากพืช (Latex) แต่ก็มีบ้างที่ทำจากวัสดุอย่างอื่น อาทิ Polyurethane และ Polyisoprene หรือลำไส้แกะ (Lamb intestine) ถุงอนามัยสำหรับสตรีก็มีเหมือนกัน ซึ่งมักทำจากสารอินทรีย์ Nitrile แต่เมื่อใช้เพื่อคุมกำเนิดแล้ว ถุงยางอนามัยชายมีความได้เปรียบกว่า ในแง่ราคาถูก ง่ายต่อการใช้ มีผลข้างเคียงน้อย และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างได้ผล

อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมอเมริกันด้านโรคติดเชื้อผ่านเพศสัมพันธ์ (Journal of the American Sexually Transmitted Diseases Association) รายงานว่า ถุงยางอนามัยมีอัตราชำรุด 2.3% และอัตราลื่นหลุด 1.3% ซึ่งหมายถึงความเสี่ยงสูงในผู้ที่มีความรู้สึกทางเพศสูง ในกรณีที่มีความรู้ที่ถูกต้องและวิธีการใช้ที่เหมาะสม (กล่าวคือใช้ทุกๆ ครั้งที่มีเพศสัมพันธ์) สตรีที่คู่นอนใช้ถุงยางอนามัยชายจะมีอัตราการตั้งครรภ์เพียงปีละ 2% เมื่อเปรียบเทียบกับ 15% ในกรณีทั่วไป

ตามประวัติศาสตร์ ได้มีการใช้ถุงยางอนามัยมาไม่ต่ำกว่า 400 ปีแล้ว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ถุงยางอนามัยเป็นวิธียอดนิยมที่สุดในโลกในการคุมกำเนิด แต่แม้จะเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในสมัยปัจจุบัน แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า ถุงยางอนามัยควรมีบทบาทอย่างไรในเรื่องเพศศึกษาในห้องเรียน โดยเฉพาะบางศาสนา อาทิ นิกายคาธอลิค ในคริสต์ศาสนาไม่ยอมรับถุงยางอนามัยในเกือบทุกสถานการณ์ [เพราะเชื่อว่า การคุมกำเนิดขัดต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า]

ถุงยางอนามัย อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์อันอาจเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของแม่ อาทิ โรคพิษแห่งครรภ์ระยะก่อนชัก (Pre-eclampsia) และการแท้งเอง (Miscarriage) เพราะถุงยางจะไปแทรกแซงกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันของแม่ที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับน้ำอสุจิของพ่อ (Paternal tolerance) อันเนื่องจากถุงยางเป็นตัวป้องกันไม่ให้ช่องคลอดของแม่สัมผัสกับน้ำอสุจิของพ่อ นอกจากนี้การใช้ถุงยางอนามัยที่ทำจาก Latex อาจทำให้ผู้ใช้บางคนที่แพ้ยาง เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ในกรณีที่แพ้ยางอย่างรุนแรงก็อาจเป็นภัยคุกคามถึงชีวิตได้ และการใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำ อาจทำให้ผู้ใช้บางคนที่ไม่เคยแพ้มาก่อน วิวัฒนาจนเกิดอาการแพ้ได้ในที่สุด

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขเชียงใหม่ชี้กลุ่มเยาวชนน่าเป็นห่วง เสี่ยงติดเอดส์เหตุไม่ใช้ถุงยาง http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000153407&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 3].
  2. Condom. http://en.wikipedia.org/wiki/Condom [2011, December 3].